บทความที่ 1: มาเรียนไวยากรณ์จากข้อสอบ Error Identification กัน



ข้อสอบประเภท error identification หรือ error detection หรือ error recognition เป็นข้อสอบที่ใช้วัดความรู้ด้านไวยากรณ์ ปกติแล้วข้อสอบแต่ละข้อจะให้ประโยคมา 1 ประโยค (บางครั้งอาจเจอโจทย์ที่ให้มาเกิน 1 ประโยค) แล้วให้หาที่ผิดมา 1 แห่ง โดยมากจะให้เลือกที่ผิดจากคำหรือกลุ่มคำที่ขีดเส้นใต้ไว้ น้อง ๆ หลายคนคงเคยทำข้อสอบลักษณะนี้มาบ้างแล้ว ลองดูตัวอย่างข้อสอบกันเลยครับ ช่วยกันตอบหน่อยสิครับว่าข้อไหนผิด?

(a) The simplest way (b) to understand how a jet engine works (c) is to watch air (d) escapes from a balloon.

ก่อนที่พี่แมคจะเฉลยพร้อมกับอธิบายไวยากรณ์ของประโยคนี้อย่างละเอียด อยากให้น้องลองตอบคำถามง่าย ๆ ก่อนครับ

ถาม ถ้าเราวิเคราะห์ชนิดของคำ (word classes หรือ parts of speech) ประโยคข้างบนจะมี verbs อยู่ทั้งหมดกี่ตัว?

ตอบ มี verbs 5 ตัว ได้แก่ understand, works, is, watch และ escapes

ตอบถูกมั้ยครับ? ถ้าตอบถูกก็อ่านต่อเลยครับ ถ้าตอบไม่ถูกน้อง ๆ ก็ควรไปศึกษาเรื่อง word classes ให้เข้าใจ

word classes ที่สำคัญได้แก่ nouns, verbs, adjectives, adverbs, pronouns, determiners, prepositions และ conjunctions

เนื่องจากประโยคนี้เป็นประโยคที่มีความซับซ้อนพอสมควร (เราเห็น verbs ถึง 5 ตัว) จึงควรวิเคราะห์โครงสร้างประโยคก่อน ขั้นแรก เราควรหาส่วนที่เป็น subject และ verb ของ main clause ให้ได้ก่อนครับ

ถ้าใครยังงง ๆ กับการดูว่าอะไรเป็น subject อะไรเป็น verb ก็ควรอ่านเนื้อหาในกรอบข้างล่างนี้ก่อนนะครับ แต่ถ้ารู้แล้วก็ข้ามไปเลย!

Subject

Subject (S) มักจะอยู่ในรูปของ noun phrase (นามวลี) ซึ่งหมายถึงกลุ่มคำที่มี noun หรือ pronoun เป็นคำหลักและอาจมีส่วนขยายอยู่ด้วย

ตัวอย่างของ noun phrase ก็เช่น a smart guy, a very beautiful girl, two cars, he เป็นต้น (ขอให้น้องสังเกตด้วยว่าพี่ทำตัวหนาที่ noun หรือ pronoun ซึ่งเป็นคำหลักของ noun phrase)

นอกจากนี้ subject ยังสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่ทำหน้าที่เสมอเหมือน noun phrase เช่น noun clause เป็นต้น แต่พี่ยังไม่อธิบายตอนนี้นะ ติดไว้ก่อน

ถ้าน้องไปเจอ noun phrase หรือสิ่งที่ทำหน้าที่เสมอเหมือน noun phrase วางอยู่ต้นประโยค ก็มีความเป็นไปได้ที่มันจะเป็น subject ครับ

Verb

Verb (V) ต้องอยู่ในรูปของ verb phrase (กลุ่มคำกริยา/กริยาวลี) ซึ่งต้องมีคำกริยาหลัก 1 ตัว และอาจมีคำกริยาช่วยปรากฏอยู่ด้วยก็ได้ ลองดูตัวอย่างประโยคนะครับ
That old man has been smoking.
ชายแก่คนนั้นสูบบุหรี่มาแน่เลย (ได้กลิ่นแรงเชียว)
น้องลองวิเคราะห์ดูนะครับว่าตรงไหนเป็น subject และตรงไหนเป็น verb  ถ้าเสร็จแล้วดูเฉลยกันเลย
S(That old man) V(has been smoking).
S = that old man อยู่ในรูปของ noun phrase ซึ่งมีคำว่า man เป็นนามตัวหลัก
V = has been smoking อยู่ในรูปของ verb phrase ซึ่งมีคำว่า smoking เป็นกริยาหลัก ส่วน has กับ been เป็นกริยาช่วย

ถึงตรงนี้พี่คิดว่าคงมีน้อง ๆ บางคนสับสนกับคำว่า verb ว่าตกลงมันเป็น “กลุ่มคำ” หรือ “คำ ๆ เดียว” กันแน่ ดังนั้นพี่แมคจะอธิบายเพิ่มเติมนิดนึงนะครับ

ในทางไวยากรณ์ คำว่า verb ถูกใช้ใน 2 ความหมายด้วยกัน ดังนี้

(1) Verb เป็น part of speech ชนิดหนึ่ง
ในกรณีนี้คำว่า verb อาจแปลเป็นภาษาไทยว่า “คำกริยา” เราจะใช้ verb ในความหมายนี้เมื่อเราวิเคราะห์ชนิดของ “คำ” เช่น ประโยคข้างบนมี verb 3 ตัว ได้แก่ has, been และ smoking
(2) Verb เป็นหน้าที่ (function) อย่างหนึ่งของส่วนประกอบภายในประโยค
ในกรณีนี้ verb อาจแปลเป็นไทยว่า “บทกริยา” โดยปกติแล้วเราสามารถแบ่งประโยคออกเป็นส่วน ๆ ตามหน้าที่ของแต่ละส่วนได้เป็น subject, verb, object, complement และ adverbial โดยส่วนที่ทำหน้าที่เป็น verb (บทกริยา) นั้นจะอยู่ในรูปของ verb phrase ซึ่งอาจประกอบด้วยคำกริยาหลักเพียงคำเดียว หรืออาจเป็นคำกริยาหลักรวมกลุ่มอยู่กับกริยาช่วย ตัวอย่างเช่น ในประโยคข้างบนนั้นส่วนที่ทำหน้าที่เป็น verb ก็คือ has been smoking ทั้งก้อนเลย
เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้สับสน ตำราบางเล่มเค้าจะเรียก verb ในความหมายที่ (2) ว่า verb phrase (กลุ่มคำกริยา/กริยาวลี) ไปเลย

แล้ว main clause ล่ะเป็นยังไง? ถ้าไม่รู้อ่านตรงนี้ก่อนครับ ถ้ารู้แล้วข้ามไปเลย

Main clauses and subordinate clauses

Clauses มี 2 ประเภท ได้แก่ main clauses (ประโยคหลัก) และ subordinate clauses (อนุ ประโยค/ประโยครอง) แต่ละแบบหมายความว่ายังไง ลองอ่านในบทความที่ 2 และบทความที่ 11 ดูนะครับ ในที่นี้พี่จะอธิบายโดยใช้ตัวอย่างไปเลย ลองดูประโยคข้างล่าง
I wish that you were here.
ฉันอยากให้เธออยู่ที่นี่จัง (เสียดายจังที่ตอนนี้เธอไม่ได้อยู่ที่นี่)
ถามว่า main clause คือส่วนไหน? และ subordinate clause คือส่วนไหน? ลองมาดูการวิเคราะห์ประโยคกันนะครับ
SI Vwish O[that Syou Vwere here].
Main clause ของเรามี subject คือ I และมี verb คือ wish ตามปกติแล้ว verb ของ main clause จะแสดง tense ให้เราเห็น อย่างในที่นี้ wish ก็แสดง tense คือ present simple tense

ส่วนที่เหลือในวงเล็บ [ ] ถือเป็น object ของ wish

สิ่งที่อยู่ในวงเล็บ [that you were here] นี่แหละครับที่เราเรียกว่า subordinate clause ซึ่งเป็นประโยครองซ้อนอยู่ใน main clause อีกทีหนึ่ง ใน subordinate clause นี้ก็จะมี subject และ verb ของมันเองด้วยซึ่งก็คือ you และ were ตามลำดับ

มีข้อสังเกตนิดนึงว่า ภาษาอังกฤษมักจะมีตัวเชื่อมบางประเภทที่บอกให้เรารู้ว่า “ต่อไปนี้จะเป็น subordinate clause แล้วนะ” อย่างในประโยคนี้ตัวเชื่อมคือคำว่า that นั่นเองครับ ตัวเชื่อมอื่น ๆ ที่เค้านำมาขึ้นต้น subordinate clause ก็เช่น because, before, when, if, which, who, how, where เป็นต้น

พอเข้าใจรึยังครับ ถ้าเข้าใจก็ดีครับ เก่งมาก ถ้าไม่เข้าใจก็… ตัวใครตัวมันแล้วกันนะ ;-)

เอาล่ะ เข้าเรื่องซะที จากโจทย์...

(a) The simplest way (b) to understand how a jet engine works (c) is to watch air (d) escapes from a balloon.

น้อง ๆ ลองหาส่วนที่เป็น subject และ verb ของ main clause สิครับ หากันได้มั้ย? พี่มองว่าข้อนี้ค่อนข้างยากนะเพราะว่าคนออกข้อสอบเค้าเล่นขีดเส้นใต้เกือบหมดเลย เราแทบจะไม่รู้เลยว่าตรงไหนมันถูกอยู่แล้ว เพราะทุกคำมีโอกาสผิดทั้งนั้น (ยกเว้น a jet engine works กับ air) ถ้าหากน้องไม่มีพื้นฐานที่ดี ทำไปมันก็มั่ว แต่พี่ก็จะพยายามอธิบายก็แล้วกันนะ

ถ้าเราเจอข้อสอบที่ขีดเส้นใต้เกือบหมดแบบนี้ การวิเคราะห์ส่วนประกอบของประโยคเพื่อหา subject กับ verb ก็คงต้อง assume (ทึกทัก, สมมติ) ไปก่อนว่าที่เค้าให้มามันถูก แล้วค่อยมาทยอยจับผิดมัน

ส่วนที่ 1: Subject ของ main clause คือ…
The simplest way [to understand [how a jet engine works]]
ในที่นี้ subject ของเราเป็น noun phrase ถามว่ารู้ได้ยังไง? ก็ลองดูสิครับ มันมี noun ตัวหนึ่งเป็นตัวหลัก นอกนั้นก็เป็นแค่สิ่งที่มาขยาย noun ตัวนั้น ถามต่อว่า noun ตัวหลักนั้นคือคำว่าอะไรครับ?

คำตอบคือคำว่า way นั่นเอง (ก็แหงล่ะ ทำตัวหนาไว้ให้แล้วนิ ;-))

เค้าใช้คำว่า simplest ขยายคำว่า way ถูกรึยังครับ? คำว่า simplest เป็น adjective ดังนั้นใช้ขยายคำนาม way ได้แน่นอน (simplest เป็นขั้นสูงสุดของคำว่า simple ส่วนขั้นกว่าคือ simpler) นอกจากนี้ข้างหน้าคำว่า simplest ยังมี the อยู่ด้วย ตามหลักการทั่วไปคือ the + ขั้นสูงสุด เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ไม่มีอะไรผิดนะครับ

to understand อยู่ในรูป to + V0 (verb ช่องศูนย์หมายถึง verb ที่อยู่ในรูป infinitive พูดง่าย ๆ คือ verb ที่ไม่ผัน) ในที่นี้ to understand ใช้ขยายคำว่า way ก็ถูกต้องแล้ว เพราะเราสามารถใช้ to-infinitive หลังคำนามเพื่อขยายคำนามนั้นได้ ประโยคนี้ใช้ way + to + V0 เพื่อพูดถึงวิธีการที่จะทำอะไรบางอย่าง

how a jet engine works เป็น object ของ understand อีกทีหนึ่ง ส่วนนี้เราเรียกว่า noun clause ครับ (how + S + V) ซึ่ง noun clause ก็เป็น subordinate clause ประเภทหนึ่ง คงจำกันได้ว่าตัวเชื่อมบางประเภทเช่น how, when, where จะเป็นตัวบอกเราว่า “ต่อไปนี้จะเป็น subordinate clause แล้วนะ”

เรามาเช็ค grammar กันนิดนึง (ถึงแม้เค้าจะไม่ได้ขีดเส้นใต้ไว้ก็เหอะ แต่อยากเช็คมีอะไรรึเปล่า ;-)) subject ของ noun clause นี้คือ a jet engine ซึ่งเป็นเอกจน์ ถามว่าสอดคล้องกับ verb คือ works หรือยังครับ? คำตอบคือสอดคล้องแล้ว (ใน present tense ถ้า subject เป็นเอกพจน์บุรุษที่สาม verb ต้องเติม -s/-es)

อย่าลืมดูด้วยว่าคำว่า how ถูกหรือยัง ในแง่ของความหมาย เพราะคนออกข้อสอบเขาขีดเส้นใต้เอาไว้ด้วย ถ้าอย่างนั้นลองแปลหน่อยแล้วกันครับ
The simplest way to understand how a jet engine works
“วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำความเข้าใจว่าเครื่องยนต์ไอพ่นทำงานอย่างไร”
จะเห็นได้ว่า คำว่า how ก็ถูกต้องตามความหมายที่เค้าต้องการสื่อแล้ว เพราะ how ใช้บอกถึงวิธีการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง บางคนบอกว่าไม่ต้องแปลก็ทำได้ ใช่ครับ ไม่ต้องแปลก็ทำได้ แต่ต้องเข้าใจความหมายคร่าว ๆ ของประโยคด้วยเพราะ grammar กับ meaning เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกครับ

ส่วนที่ 2: Verb ของ main clause คือ… 
is
is ตัวเดียวโดด ๆ นี่แหละ ถามว่าคำว่า is ถูกหรือยัง?

คำตอบคือ ถูกแล้ว เพราะเมื่อ S เป็นเอกพจน์ (การดูว่า subject เป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ เราจะดูจากคำหลักเท่านั้นนะครับ ซึ่งก็คือคำว่า way) แล้ว V ก็ต้องเป็นเอกพจน์ตาม

ส่วนที่ 3: Complement
to watch air escapes from a balloon
เราเรียกส่วนนี้ว่าเป็น complement ครับ ภาษาบ้านเราเรียกว่า “ส่วนเติมเต็ม” ใช้สัญลักษณ์ย่อว่า C ดังนั้นโครงสร้างของประโยคในโจทย์ก็คือ S + V + C โดยที่ V ต้องประกอบด้วย verb ชนิดพิเศษที่เรียกว่า linking verb (ตัวอย่างของ linking verbs ได้แก่ be, seem, sound, etc. ถ้าน้องยังไม่รู้จักพวกมัน ก็ลองไปหาอ่านจากตำราไวยากรณ์ดี ๆ นะครับ)

ตรงนี้แหละครับที่หลาย ๆ คนชอบตอบผิด คือ เจอ is ตามด้วย to watch แล้วอยู่ดี ๆ ก็ใช้ “sense” มาบอกว่ามันแปลก ๆ เลยไปหาว่ามันผิด (เรียกอีกอย่างว่า “มั่วนิ่ม” นั่นเอง)

ส่วนที่ 3 นี้มีชื่อเรียกตามหน้าตาของมันว่า to-infinitive clause (หรือถ้าเรียกตามภาษาไวยากรณ์ดั้งเดิมก็จะเรียกว่า to-infinitive phrase)

ไอ้ to-infinitive clause นี้มันสามารถทำหน้าที่คล้าย ๆ คำนามได้ (เวลาแปลให้แปลว่า “การ…” หรือ “การที่จะ…”) ดังนั้นมันจึงสามารถทำหน้าที่เป็น complement ของ verb to be ได้เช่นเดียวกับคำนาม (เช่น ในประโยค He is a student. นามวลี a student ทำหน้าที่เป็น complement ของ verb to be เพื่อไปบรรยายประธาน he)

ประโยคในโจทย์แปลความได้ว่า “วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำความเข้าใจว่าเครื่องยนต์ไอพ่นทำงานอย่างไรคือการมองดู…” แสดงว่าเราสามารถใช้ to watch ตรงนี้ได้

โจทย์ขีดเส้นใต้ที่ escapes from a balloon ตรงนี้มีอะไรผิดปกติมั้ยครับ คำตอบคือคำว่า escapes ผิดปกติ เพราะคำกริยา escapes เติม -s อย่างนี้เค้าเอาไว้ใช้ใน present simple tense (กรณีที่ประธานเป็นเอกพจน์บุรุษที่สาม) เราจะเอามาใช้ตรงนี้ไม่ได้เด็ดขาด เพราะคำกริยาที่อยู่ ณ ตำแหน่งนี้มันต้องไม่แสดง tense

มาทำความเข้าใจเรื่อง tensed verb phrases กับ non-tensed verb phrases กันหน่อยครับ (สำคัญมาก ๆ)

Tensed verb phrases กับ non-tensed verb phrases


เราอาจแบ่ง verb phrases (กลุ่มคำกริยา/กริยาวลี) ออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. Tensed verb phrases
Tensed verb phrases หมายถึงกริยาวลีที่แสดง tense เช่น plays, is playing, went เป็นต้น ปรกติแล้วเราจะใช้ verb phrase ในรูป tensed ก็ต่อเมื่อ verb phrase นั้น

(1) ทำหน้าที่เป็นบทกริยาของ main clause  หรือ
(2) ทำหน้าที่เป็นบทกริยาของ subordinate clause ที่มีตัวเชื่อมและประธานปรากฏอยู่ (แต่ก็มีบางกรณีที่เราสามารถละตัวเชื่อมออกไปได้ หรือบางกรณีตัวเชื่อมก็ทำหน้าที่เป็นประธานไปในตัว)

ลองดูตัวอย่างนะครับ
She always cries before she sleeps.
(หล่อนร้องให้ก่อนนอนทุกทีเลย)
ประโยคนี้มี main clause คือ She always cries โดยคำว่า cries เป็น verb phrase ของ main clause ส่วน subordinate clause ก็คือ [before she sleeps] โดยที่คำว่า sleeps เป็น verb phrase ของ subordinate clause เราจะเห็นได้ว่า verb phrases ทั้งสองแห่งต่างก็อยู่ในสภาพ tensed ทั้งคู่ (present tense) นอกจากนี้ควรสังเกตว่าเรามี before เป็นตัวเชื่อม ดังนั้นประโยคนี้จึงมี tensed verb phrases ได้ 2 แห่ง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือประโยคนี้ประกอบด้วย 2 tensed clauses นั่นเอง

อ้อ เกือบลืม ถ้าน้องพบเห็นการใช้ modal verb ประกอบกับกริยาหลัก มันก็จัดเป็น tensed verb phrase เหมือนกันนะครับ (modal verbs ในที่นี้นับเฉพาะโมเดิลแท้ ๆ ซึ่งได้แก่ will, would, can, could, shall, should, may, might, must และ ought to) ตัวอย่างเช่น She can’t swim. ในประโยคนี้ can’t swim เป็น tensed verb phrase

2. Non-tensed verb phrases
Non-tensed verb phrases คือกริยาวลีที่ไม่แสดง tense แต่อยู่ในรูป Ving, V0 (กริยาช่องศูนย์/กริยาไม่ผัน), to V0 (to ตามด้วยกริยาไม่ผัน) หรือ V3
ตัวอย่างเช่น He loves playing tennis. ประโยคนี้ loves เป็น tensed verb phrase และ playing เป็น non-tensed verb phrase เราจะไม่เขียนว่า He loves plays tennis. เด็ดขาด เพราะเรามีหลักการอยู่ว่า “ถ้าประโยคไม่มีตัวเชื่อม มันจะมี tensed verb phrase ได้เพียงหนึ่งแห่ง” ส่วน verb phrases อื่น ๆ ที่เหลือในประโยค (ถ้ามี) จะต้องอยู่ในรูป non-tensed ทั้งหมด ส่วนจะอยู่ในรูปไหนก็ต้องไปท่องกันอีกที เช่น หลังคำว่า love ถ้าจะใช้ verb ตามมา verb นั้นต้องเป็น Ving หรือบางครั้งอาจใช้ to V0 ก็ได้ เช่น love playing, love to play เป็นต้น (แต่การจะนำหลักการนี้ไปใช้ต้องระวังนิดนึงนะครับ เพราะบางประโยคอาจมีการละตัวเชื่อมไว้ ทำให้เรามองไม่เห็นตัวเชื่อม น้องสามารถอ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ในบทความที่ 6)

หมายเหตุ เราอาจเรียกว่า tensed verb phrase ว่า finite verb phrase และเรียก non-tensed verb phrase ว่า non-finite verb phrase ก็ได้นะครับ ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แม้ว่าในทางทฤษฎีมันจะต่างกันอยู่นิดหน่อย แต่ในที่นี้พี่จะไม่ลงรายละเอียดลึกขนาดนั้นครับ

ขอยกทั้งประโยคมาดูอีกทีนะครับ
S(The simplest way [to understand [how a jet engine works]]) Vis C[to watch air escapes from a balloon].
“วิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะทำความเข้าใจว่าเครื่องยนต์ไอพ่นทำงานอย่างไรคือการมองดูอากาศหนีออกมาจากลูกโป่ง”
  • is เป็น tensed verb phrase ถูก เพราะเป็นกริยาของประโยคหลัก
  • works เป็น tensed verb phrase ถูก เพราะเป็นกริยาของประโยครองที่มีตัวเชื่อมและประธานปรากฏอยู่
  • escapes เป็น tensed verb phrase ผิด เพราะไม่ใช่กริยาของประโยคหลักและไม่ใช่กริยาในประโยครองที่มีตัวเชื่อม

ตอนนี้รู้แล้วว่า escapes ผิด ปัญหาต่อมาคือเราจะแก้มันเป็นอะไรดีล่ะ? น้องบางคนอาจตอบว่าไม่รู้สิ ก็กาข้อนี้แหละ จบ จะคิดอะไรมากมาย

ไม่ได้นะ! เพราะโจทย์ข้อนี้พี่เอามาจากข้อสอบ O-NET น้องต้องตอบให้ได้ด้วยว่าจะแก้ให้ถูกยังไง ไม่งั้นไม่ได้คะแนน!

การจะแก้ให้ถูก ก็ต้องรู้ว่ามันอยู่ใน grammar เรื่องอะไร คำสำคัญในข้อนี้คือคำว่า watch ซึ่งเป็นหนึ่งในกริยาที่เกี่ยวกับการรับรู้โดยประสาทสัมผัส

หลักการใช้ verbs ที่เกี่ยวกับการรับรู้โดยประสาทสัมผัส (verbs of perception)

Verbs of perception ได้แก่ see, watch, notice, observe, look at, hear, overhear, listen to, feel, sense เป็นต้น

ถ้าเราต้องการพูดว่า เราเห็น (มองดู ได้ยิน ฯลฯ) ใครทำอะไรบางอย่าง เราจะใช้ patterns ต่อไปนี้
see, watch, etc. + someone/something + V0
see, watch, etc. + someone/something + Ving 
แต่ท่องเป็นสูตรมันยาก วิธีที่ดีกว่าคือท่องประโยคสองประโยคนี้ไว้ช่วยจำ
I saw her cry. (ฉันเห็นหล่อนร้องไห้)
I saw her crying. (ฉันเห็นหล่อนกำลังร้องไห้)
ยังไม่หมดครับ ถ้าเราต้องการสื่อความหมายว่า เราเห็น (มองดู ได้ยิน ฯลฯ) ใครถูกกระทำอะไรบางอย่าง เราจะใช้ patterns ต่อไปนี้…
watch, see, hear etc. + something/someone + V3
watch, see, hear etc. + something/someone + being + V3
เราอาจท่องสองประโยคนี้ไว้ช่วยจำ
I saw her killed. (ฉันเห็นหล่อนถูกฆ่า)
I saw her being killed. (ฉันเห็นหล่อนกำลังถูกฆ่า)

จากหลักการข้างต้น เราจะแก้ข้อ (d) นี้เป็น escape from a balloon หรือ escaping from a balloon ก็ได้

จะเห็นได้ว่า การที่น้องจะทำโจทย์ข้อนี้ให้ได้อย่างมั่นใจ น้องต้องรู้ไวยากรณ์หลายเรื่องทีเดียว พี่แมคอยากให้น้องศึกษาแนวคิดเรื่อง clauses ให้เข้าใจ เรื่องนี้มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น clause patterns, coordination, subordination, etc. น้อง ๆ ลองไปหาอ่านดูนะครับ (เริ่มอ่านจากเว็บพี่แมคก่อนก็ได้) น้อง ๆ สามารถดาวน์โหลดข้อสอบ O-NET (โอเน็ต) วิชาภาษาอังกฤษที่สอบเมื่อปี 2553 ได้ที่นี่ (ข้อที่พี่เฉลยข้างบนเป็นข้อที่ 21)

บทความนี้เขียนโดยครูแมค เมื่อ March 11, 2011 โพสต์ครั้งแรกในเว็บไซต์ tutormax.wordpress.com และโพสต์ครั้งที่สองในเว็บไซต์ krumac.com