บทความที่ 6: เรียน Grammar จากตัวอย่างข้อสอบง่าย ๆ


The bank has offered a reward for information _______ to the arrest of the robbers.
    1. lead
    2. leads
    3. led
    4. leading

เลือกข้อไหนดีครับ?

ข้อนี้ดูจากตัวเลือกปุ๊บก็จะรู้ทันทีว่าเป็นการทดสอบเรื่องรูปคำกริยา (verb forms) นั่นเอง โจทย์ข้อนี้ถือว่าไม่ยากนัก บางครั้งข้อสอบเค้าอาจไม่ให้มาเป็นข้อเดี่ยว ๆ แบบนี้ แต่จะมาในรูปของ passage คือยกเรื่องมาให้อ่าน โดยตัดคำบางคำทิ้งไป แล้วให้เลือก choice ที่ถูกต้องมาเติมในส่วนที่เว้นว่างไว้

ก่อนอื่นเรามาทบทวนความรู้พื้นฐานจากกรอบข้างล่างนี้กันดีกว่า แต่ถ้ารู้แล้วก็ข้ามไปได้เลยครับ

Verbs 


Verbs (คำกริยา) ในภาษาอังกฤษสามารถผันหรือเปลี่ยนรูปได้ ดังนั้น verb ตัวหนึ่ง ๆ จึงมีโอกาสปรากฏกายออกมาได้ 5 รูป ดังต่อไปนี้ (ในที่นี้จะยกตัวอย่างการผันคำว่า lead)

  • Plain form/base form/infinitive form
    คือรูปกริยาไม่ผัน ไม่เติมอะไรทั้งสิ้น เรียกง่าย ๆ ว่ากริยาช่องศูนย์ (V0)
    เช่น lead
  • Present tense form
    คือกริยาในรูปปัจจุบันกาลซึ่งต้องผันตามประธาน หรือเรียกง่าย ๆ ว่ากริยาช่องหนึ่ง (V1)
    เช่น lead/leads
  • Past tense form
    คือกริยาในรูปอดีตกาล หรือเรียกง่าย ๆ กว่ากริยาช่องสอง (V2)
    เช่น led
  • Past participle form เรียกง่าย ๆ ว่ากริยาช่องสาม (V3)
    เช่น led
  • -ing form คือกริยาเติม -ing (Ving)
    เช่น leading

จะเห็นได้ว่าคำกริยาในภาษาอังกฤษมีลักษณะต่างจากภาษาไทยมาก เพราะภาษาไทยไม่มีการผันกริยา เช่น คำว่า “กิน” ไม่ว่าจะกินเวลาไหนมันก็คือ “กิน” ไม่มี “กินส์” “กินนิ่ง” ฯลฯ แต่อาจจะมีการพูดว่า “กิง” (กรณีคนจีนพูดไม่ชัด หรือ ภาษาแอ๊บแบ๊ว) ;-)

เอ้า เข้าเรื่องซะที ประโยคภาษาอังกฤษจะต้องมี verb phrase (กริยาวลี) ปรากฎอยู่เสมอ (จำกันได้มั้ยครับ พี่เคยสอนไว้ว่า verb phrase เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของ clause เลย)

โครงสร้างทั่วไปของ verb phrase (VP)
= {auxiliary verb(s)} + main verb
= {กริยาช่วย} + กริยาหลัก

จะเห็นว่าพี่แมคใส่วงเล็บปีกกาครอบ auxiliary verb(s) เอาไว้ แสดงว่าใน verb phrase หนึ่ง ๆ อาจจะมีกริยาช่วยหรือไม่ก็ได้ (กรณีที่มีกริยาช่วย ก็อาจจะมีตัวเดียวหรือหลายตัวก็ได้) ขึ้นอยู่ tense และ voice

เราแบ่ง verb phrase ออกเป็น 2 ประเภท

 1. Tensed verb phrase

Tensed verb phrase หมายถึงกริยาวลีที่แสดง tense ตัวอย่างเช่น leads, is leading, has led เป็นต้น รวมไปถึงกริยาวลีที่ขึ้นต้นด้วยกริยาช่วย will, would, can, could, shall, should, may, might, must และ ought to (เรียกว่า modal verbs) ตัวอย่างเช่น may lead, will lead เป็นต้น

2. Non-tensed verb phrase

Non-tensed verb phrase หมายถึงกริยาวลีที่ไม่แสดง tense แต่จะอยู่ในรูป bear infinitive (V0), to-infinitive (to + V0), past participle (V3) หรือ -ing form (Ving) ตัวอย่างเช่น to lead, leading เป็นต้น
หมายเหตุ เราอาจเรียกว่า tensed verb phrase ว่า finite verb phrase และเรียก non-tensed verb phrase ว่า non-finite verb phrase ก็ได้นะครับ ในระดับพื้นฐานถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แม้ว่าในทางทฤษฎีมันจะต่างกันอยู่นิดหน่อย แต่ในที่นี้พี่จะไม่ลงรายละเอียดลึกขนาดนั้นครับ

หลักการทำโจทย์ข้อนี้ก็คือ…

โดยทั่วไปแล้ว sentence ที่ไม่มี “ตัวเชื่อม” และไม่มีเครื่องหมาย semicolon (;) ปรากฏอยู่ จะมี tensed verb phrase ได้เพียงแห่งเดียว ส่วน verb phrases อื่น ๆ ที่เหลือ (ถ้ามี) จะต้องอยู่ในรูป non-tensed ทั้งหมด

โดยที่ “ตัวเชื่อม” ในที่นี้หมายถึง (1) conjunctions เช่น and, but, or, because, if, when, that (=ว่า) เป็นต้น (2) relative pronouns ได้แก่ who, whom, which, that(=ที่) และ (3) wh-words เช่น why, when, where เป็นต้น

แต่ต้องระวังนะครับ!! เพราะบางประโยคอาจมีการละตัวเชื่อมไว้ ทำให้เรามองไม่เห็นตัวเชื่อม แต่เห็น tensed verb phrase มากกว่า 1 แห่ง ตัวอย่างเช่น He said he loved me. (มาจากประโยคเต็มว่า He said that he loved me) The cakes she baked were delicious. (มาจากประโยคเต็มว่า The cakes that she baked were delicious.)

กลับมาที่โจทย์

The bank has offered a reward for information _______ to the arrest of the robbers.

ดังนั้นเราจะเริ่มดูกันก่อนว่าประโยคที่โจทย์ให้มามี tensed verb phrase อยู่แล้วหรือยัง? (ยังไม่ต้องสนใจตัวเลือก) คำตอบก็คือ มีแล้วใช่มั้ยครับ คือ has offered นั่นเอง (present perfect tense)

เนื่องจากประโยคนี้ไม่มีตัวเชื่อม ดังนั้นกริยาที่จะเติมในช่องว่างได้ต้องเป็น non-tensed verb phrase เท่านั้น เราจึงสามารถตัดตัวเลือกข้อ 2. leads ออกไปจากการพิจารณาได้ เพราะอยู่ในรูป present simple tense

ต่อไปก็ต้องเลือก non-tensed verb phrase ที่เหมาะสมมาเติมในช่องว่าง การจะเติมให้ถูกก็ต้องอ่านประโยคนี้ให้เข้าใจก่อนครับ ประโยคนี้ผู้เขียนต้องการสื่อความหมายว่า “ธนาคารได้เสนอเงินรางวัลสำหรับข้อมูลที่จะนำไปสู่การจับกุมโจรปล้นธนาคาร” จากคำแปลข้างต้นจะเห็นได้ว่าส่วนของข้อความตั้งแต่ช่องว่างไปจนจบประโยคนั้นทำหน้าที่เป็นส่วนขยายของคำนาม information นั่นเอง

สำหรับโจทย์ข้อนี้ ส่วนขยายนามของเราขึ้นต้นด้วยคำกริยา ถ้าเจอแบบนี้เราจะใช้กริยาได้ 3 รูปแบบ คือ to-infinitive, Ving หรือ V3 ขึ้นอยู่กับความหมายที่เราต้องการสื่อ แต่เนื่องจากตัวเลือกที่ให้มาไม่มี to-infinitive พี่ก็ขอไม่พูดถึงมันก็แล้วกัน เพราะพี่ขี้เกียจ อิอิ ;-) ต่อไปนี้พี่จะอธิบายเฉพาะกรณีที่เป็น Ving กับ V3 ซึ่งอยู่ในหัวข้อไวยากรณ์เรื่อง participle clause (หรือเรียกตามตำราไวยากรณ์ดั้งเดิมว่า participle/participial phrase)

หลักเกณฑ์การใช้คำกริยาใน participle clause กรณีที่ participle clause นั้นทำหน้าที่ขยายคำนามที่อยู่ข้างหน้า
(1) ถ้านามข้างหน้าเป็นผู้กระทำกริยา (active) ให้ใช้ Ving
(2) ถ้านามข้างหน้าถูกกระทำ (passive) ให้ใช้ V3
หมายเหตุ กรณี (1) บางครั้งอาจใช้ having + V3 (perfect participle) ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความหมายและความเหมาะสม และกรณี (2) บางครั้งอาจใช้ being + V3 หรือ having been + V3 ก็ได้

ในโจทย์ข้อนี้ คำนาม information ถือว่าเป็นผู้กระทำกริยา lead to (information นำไปสู่การจับกุมคนร้าย) ดังนั้น กริยา lead จึงต้องใช้รูป Ving ซึ่งก็คือ leading ในตัวเลือกข้อที่ 4 นั่นเอง

เราสามารถสรุปโครงสร้างประโยคได้ดังนี้

(The bank) (has offered) (a reward (for information [leading to the arrest of the robbers])).

หมายเหตุ เราเรียก lead to ว่าเป็น prepositional verb (กริยาที่มี preposition พ่วงท้ายอยู่ด้วย) สิ่งที่ตามหลัง prepositional verb จะเรียกว่า prepositional object

เราอาจมองว่าประโยคในข้อนี้ลดรูปมาจาก
The bank has offered a reward for information [that leads to the arrest of the robbers].
ประโยคย่อยที่อยู่ในวงเล็บ [ ] เรามีชื่อเรียกเก๋ ๆ ว่า relative clause ซึ่งสามารถลดรูปมาเป็น participle clause ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวไว้ข้างบน กล่าวคือ ถ้าเราตัด that ทิ้ง แล้วเปลี่ยนคำกริยาให้อยู่ในรูป Ving ซะ เราก็จะได้ประโยคที่ลดรูปแล้วคือ
The bank has offered a reward for information [leading to the arrest of the robbers].
บทความนี้เป็นเพียงแนวคิดคร่าว ๆ เท่านั้นนะครับ (ขนาดคร่าว ๆ แล้วนะเนี่ย ยังยาวขนาดนี้ ;-)) อาจนำไปใช้ไม่ได้ทุกกรณี ถ้าจะให้ชัวร์น้องต้องศึกษาเรื่อง main clauses และ subclauses ให้กระจ่างแจ้ง จึงจะทำข้อสอบได้แม่นยำครับ

บทความนี้เขียนโดยครูแมค โพสต์ครั้งแรกในเว็บไซต์ tutormax.spaces.msn.com โพสต์ครั้งที่สองในเว็บไซต์ tutormax.wordpress.com (on March 19, 2011) และโพสต์ครั้งที่สามในเว็บไซต์ krumac.com