บทความที่ 11: Tensed Clauses (Finite Clauses)


วันนี้พี่แมคจะเขียนเกี่ยวกับเรื่อง clauses ประเภทหนึ่งที่เรียกว่า tensed clauses หรือ finite clauses อย่างละเอียด พี่แมคเคยพูดเรื่อง clauses ไว้บ้างแล้วในบทความที่ 2 และบทความที่ 5 ถ้าน้องยังไม่ได้อ่านบทความ 2 บทความนั้น พี่แมคแนะนำให้แวะไปอ่านก่อนครับ

เรามาทบทวนความรู้พื้นฐานกันก่อนดีกว่า โดยทั่วไปแล้วโครงสร้างที่จะถือเป็น clause ได้นั้น มันจะต้องมีส่วนประกอบสำคัญคือ verb phrase เป็นอย่างน้อย ตัวอย่างเช่น
The bus stopped.
ถือเป็น 1 clause ที่มี verb phrase คือ stopped
หรือแม้แต่
Stop!
ก็ถือเป็น 1 clause เช่นเดียวกัน
อีกคำที่น้องต้องรู้คือคำว่า sentence การจะดูว่า sentence หนึ่ง ๆ เริ่มที่ไหนและจบที่ไหนก็ดูง่ายนิดเดียว เพราะปกติแล้ว sentence จะต้องขึ้นต้นด้วยตัวอักษรตัวใหญ่ และตอนท้ายก็จะมีเครื่องหมายวรรคตอนบอกเราว่า “ตอนนี้จบ sentence แล้วนะ” เครื่องหมายวรรคตอนที่ว่านี้ก็คือเครื่องหมายมหัพภาค (.) แต่บางทีก็อาจจะเป็นเครื่องหมายปรัศนีย์ (?) หรือ อัศเจรีย์ (!) ก็ได้ บางคนอาจบอกว่าพี่แมคนี่น่าจะไปสอนวิชาภาษาไทยมากกว่านะ เพราะพี่เรียกชื่อเครื่องหมายเป็นภาษาไทยซะเต็มยศขนาดนี้ เหอ ๆ พี่ว่าชื่อภาษาไทย (ซึ่งรับมาจากภาษาแขกอีกที) มันฟังดูหรูดีอะ ;-) ตอนนี้น้องคงมองออกได้ไม่ยากว่า clauses ทั้งสองที่พี่ยกตัวอย่างข้างบนก็ถือเป็น sentences เช่นกัน โดยแต่ละ sentence ประกอบด้วย clause เพียง 1 clause

น้องลองดูตัวอย่างข้างล่างนี้ แล้วตอบในใจนะครับว่าตัวอย่างนี้มีกี่ clauses และกี่ sentences?
You buy all the food. I’ll do the cooking.
น้องคงตอบกันได้อย่างไม่ลังเลว่าตัวอย่างข้างบนมี 2 clauses และ 2 sentences โดยที่แต่ละ sentence ก็ประกอบด้วย 1 clause เหมือนตัวอย่างก่อนหน้านี้

Clauses ที่พี่พูดมาทั้งหมดข้างบนจัดเป็น main clauses (ประโยคหลัก/มุขยประโยค) ทั้งสิ้น เพราะมันไม่ได้อยู่ภายใต้ใครและไม่ได้เป็นรองใคร

แล้วข้างล่างนี้ล่ะครับ มีกี่ clauses กี่ sentences?
You buy all the food and I’ll do the cooking.
คำตอบก็คือ มี 2 clauses ซึ่งรวมกันเป็น 1 sentence หรือพูดอีกอย่างก็คือ 1 sentence ประกอบด้วย 2 main clauses เราเรียกการเชื่อม clauses ด้วย and/but/or แบบนี้ว่า coordination น้องจะเห็นได้ว่า clauses ที่ถูกเชื่อมเข้าด้วยกันโดยวิธีนี้จะมีฐานะเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเป็นรองใคร เราจะเรียกประโยคที่เกิดจากการเชื่อมด้วยวิธีนี้ว่า compound sentence (ประโยคความรวม)

บางครั้งน้องอาจจะเห็นการเชื่อม main clauses ด้วยเครื่องหมายอัฒภาค (semicolon ;) แทนการใช้ and/but/or ดังตัวอย่างต่อไปนี้
You buy all the food; I’ll do the cooking.
ทีนี้ลองดูอีกตัวอย่างหนึ่ง
If you buy all the food, I’ll do the cooking.
สำหรับตัวอย่างนี้ 1 sentence ก็ประกอบด้วย 2 clauses เช่นเดียวกัน แต่ตัวอย่างนี้มีข้อแตกต่างจากกรณีของ compound sentence คือ clause ทั้ง 2 ที่นำมาเชื่อมกันนั้นมีฐานะไม่เท่าเทียมกัน โดย clause หนึ่งจะเป็นประโยคหลักหรือที่เรียกว่า main clause ส่วนอีก clause หนึ่งจะเป็น “รอง” หรือเป็น “อนุ” ซึ่งเรียกตามภาษาไวยากรณ์ว่า subordinate clause (ประโยครอง/อนุประโยค) อนุประโยคจะทำหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ประโยคหลัก

สำหรับประโยคข้างต้น subordinate clause คือ if you buy all the food ส่วน main clause คือ I’ll do the cooking (ถ้าจะพูดให้ถูกจริง ๆ ต้องบอกว่า main clause คือหมดทั้งประโยคนั่นแหละ รวม if you buy all the food ด้วย แต่พี่กลัวน้องจะงง เลยเอาแบบนี้ก่อน) น้องจะเห็นว่า subordinate clause ของเรามี conjunction คือ if ติดมาด้วย เราจึงเรียกมันอีกอย่างหนึ่งว่าประโยคย่อยที่ไม่อิสระ (dependent clause) ซึ่งก็หมายความว่ามันไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวลำพังได้ เพราะมันจะเหงา เอ๊ย ไม่ใช่ เพราะมันไม่มีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง น้องลองคิดดูนะครับ ว่าถ้าอยู่ ๆ มีคนมาพูดกับน้องว่า if you buy all the food แค่นี้ น้องคงงงแล้วต้องถามกลับไปว่า “แล้วยังไง (วะ)”

เราเรียกวิธีการเชื่อม clauses แบบนี้ว่า subordination (sub- เป็น prefix แปลว่า “ใต้/ต่ำกว่า/ที่เป็นส่วนย่อย” เช่นคำว่า subset ในวิชาคณิตศาสตร์ก็หมายถึง “เซตย่อย” นั่นเอง) กล่าวคือ เราจะเอา clause หนึ่งไปอยู่ภายใต้อีก clause หนึ่ง (เอา clause หนึ่งไปเป็นส่วนประกอบของอีก clause หนึ่ง) เราเรียกประโยคที่เกิดจากการเชื่อมด้วยวิธีนี้ว่า complex sentence (ประโยคความซ้อน)

เรื่อง subordinate clause นี้เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก วันนี้พี่จะพูดถึง subordinate clause แบบแรกที่เรียกว่า tensed subordinate clause ก่อน

น้อง ๆ ที่ได้อ่านบทความที่ 6 และบทความที่ 10 คงจะจำกันได้ว่า verb phrase มี 2 ประเภท คือ tensed verb phrase กับ non-tensed verb phrase เมื่อเราใช้แนวคิดจากเรื่อง verb phrase นี้มาแบ่งประเภทของ clause เราก็จะแบ่ง clause ออกได้เป็น 2 ประเภทเช่นเดียวกัน คือ tensed clause และ non-tensed clause

เราจะเรียก clause ที่มี tensed verb phrase เป็นส่วนประกอบว่า tensed clause (หรือ finite clause) มาดูตัวอย่างกันเลยครับ
She writes home every day. (verb phrase คือ writes = present tense)
She wrote home yesterday. (verb phrase คือ wrote = past tense)
ทั้งสองประโยคนี้จัดเป็น tensed clauses ทั้งคู่ เอ้อ พี่ถามนิดนึงสิว่า write home แปลว่าอะไร? เขียนบ้าน? อะไรหว่า… วาดรูปบ้านเหรอ? ไม่ใช่ครับ จริง ๆ แล้ว write home แปลว่าเขียนจดหมายถึงที่บ้าน

เราจะเรียก clause ที่มี non-tensed verb phrase เป็นส่วนประกอบว่า non-tensed clause (หรือ non-finite clause) ดูตัวอย่างต่อไปนี้เลยครับ
My sister loves [to play the piano]. (to play = to-infinitive = non-tensed)
เราเรียก [to play the piano] ในประโยคข้างบนว่าเป็น non-tensed clause (ประโยคย่อยที่ไม่มีเทนส์) หรือ non-finite clause (ประโยคย่อยที่กริยาอยู่ในรูปไม่แท้)

ข้อควรจำ
  • ประโยคที่สมบูรณ์ในภาษาอังกฤษต้องประกอบด้วย main clause อย่างน้อยหนึ่งอัน ไม่งั้นจะไม่ถือว่าเป็นประโยคสมบูรณ์
  • Main clause ต้องอยู่ในรูป tensed clause หรือพูดง่าย ๆ ว่า main clause ต้องมีประธานและกริยาที่ผันตาม tense
    ยกเว้น ประโยคคำสั่งซึ่งขึ้นต้นด้วย V0 ได้เลย (เช่น Stand up.) และประโยคที่อยู่ใน subjunctive mood (เช่น Long live the king. จะเห็นว่า live เป็น V0) โดยที่ V0 หมายถึงกริยาไม่ผัน (ไม่เติม -s, -es, -ed, -ing อะไรทั้งสิ้น)
  • Subordinate clause อาจจะอยู่ในรูป tensed หรือ non-tensed clause ก็ได้ ในกรณีที่เป็น tensed subordinate clause โดยทั่วไปจะเห็น “ตัวเชื่อม” แล้วตามด้วย S + Vtensed (แต่บางกรณีก็ละตัวเชื่อมได้ ดูรายละเอียดข้างล่าง)

วันนี้พี่แมคจะพูดเฉพาะเรื่อง tensed subordinate clause ก่อน ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 ประเภท ดังนี้ (ต่อไปนี้พี่จะเขียนเครื่องหมาย [ ] ครอบ subordinate clause ที่เราสนใจ)


1. Noun clause

Noun clause (นามานุประโยค) คือ clause ที่ทำหน้าที่คล้าย noun phrase โดยทั่วไปแล้ว noun clause จะทำหน้าที่เป็น subject, object หรือ complement ของ main clause

เราสามารถจำแนก noun clause ตามรูปร่างหน้าตาของมันได้ 3 ชนิดย่อย ดังนี้
1.1 That noun clause คือ noun clause ที่ขึ้นต้นด้วย conjunction that (คำว่า that ในที่นี้อาจแปลเป็นไทยว่า “ว่า/ที่ว่า/การที่”) ตัวอย่างเช่น
[That no one remembered her birthday] left Jane very depressed.
การที่ไม่มีใครจำวันเกิดของเจนได้นั้นทำให้เจนหดหู่ซึมเศร้าอย่างเหลือหลาย
ประโยคนี้ that clause ทำหน้าที่เป็น subject
Jane believes [{that} her mother was murdered].
เจนเชื่อว่าแม่ของเธอถูกฆาตรกรรม
ประโยคนี้ that clause ทำหน้าที่เป็น object
คำว่า that อยู่ในวงเล็บ { } แสดงว่าละได้
It’s a nice camera! The only problem is [{that} it’s too expensive].
มันเป็นกล้องที่ดีเลยล่ะ! เสียอย่างเดียวคือมันแพงเกินไป
ในประโยคที่สอง that clause ทำหน้าที่เป็น subject complement
ในกรณีนี้คำว่า that ก็สามารถละได้เช่นกัน
นอกจากนี้ that noun clause ยังสามารถทำหน้าที่อื่น ๆ ได้อีก น้องลองดูตัวอย่างประโยคต่อไปนี้นะครับ
The fact [that he’s eating more] is a sign [that he’s feeling better].
การที่เขาทานอาหารได้มากขึ้นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเขารู้สึกดีขึ้น
ประโยคนี้ that clause อันแรกทำหน้าที่ขยายคำนาม fact ส่วน that clause อันที่สองทำหน้าที่ขยายคำนาม sign
John is afraid [{that} everyone will laugh at him].
จ้อนกลัวว่าทุกคนจะหัวเราะเยาะเขา
ประโยคนี้ that clause ทำหน้าที่ขยายคำคุณศัพท์ afraid

1.2 Wh- noun clause คือ noun clause ที่ขึ้นต้นด้วย wh- (พี่ชอบอ่านว่า “เหวอะ”)
[Who killed Jane’s mother] is a mystery.
ใครฆ่าแม่ของเจนนั้นเป็นปริศนา
ประโยคนี้ wh- clause ทำหน้าที่เป็น subject
John gave his children [what they wanted].
จ้อนให้ลูก ๆ ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ
ประโยคนี้ wh- clause ทำหน้าที่เป็น direct object
(คำว่า what ในที่นี้แปลว่า “สิ่งที่/สิ่งซึ่ง”)
The problem is [who is going to look after my son].
ปัญหาคือใครจะดูแลลูกชายของฉันล่ะ
ประโยคนี้ wh- clause ทำหน้าที่เป็น subject complement

1.3 If/whether noun clause คือ noun clause ที่ขึ้นต้นด้วย if หรือ whether (แปลว่า “หรือไม่”)
Do you know [if/whether the banks are open]?
เธอรู้มั้ยว่าธนาคารเปิดหรือเปล่า
ประโยคนี้ if/whether clause ทำหน้าที่เป็น object
[Whether Mike likes the present] is not clear to me.
เรื่องที่ไมค์ชอบของขวัญหรือไม่นั้น ไม่ค่อยชัดเจนกับฉัน
(แปลเป็นไทยอีกทีว่า “ฉันไม่แน่ใจว่าไมค์ชอบของขวัญรึเปล่า”)

ประโยคนี้ whether clause ทำหน้าที่เป็น subject
ขอให้น้องสังเกตว่าในกรณีนี้เราจะไม่ใช่ if นะครับ
My main problem right now is [whether I should look for another job].
ปัญหาหลักของฉัน ณ ตอนนี้ก็คือฉันควรจะหางานใหม่หรือเปล่า
ประโยคนี้ whether clause ทำหน้าที่เป็น subject complement
ขอให้น้องสังเกตว่าในกรณีนี้เราจะไม่ใช่ if นะครับ

 

2. Adverbial clause

Adverbial clause (วิเศษณานุประโยค) คือ clause ที่ทำหน้าที่คล้าย adverb หรือพูดให้ชัดคือทำหน้าที่ adverbial นั่นเอง บางคนอาจจะเรียกมันว่า adverb clause ก็ได้

โดยทั่วไปแล้ว adverbial clause จะทำหน้าที่ให้ข้อมูลแวดล้อมเพิ่มเติมแก่ main clause (หรืออาจกล่าวว่ามันทำหน้าที่ขยายกริยาของ main clause) เราสามารถชี้ตัว adverbial clause นี้ได้ไม่ยากเลยครับ เพราะมันจะขึ้นต้นด้วย conjunction ให้เห็นกันจะจะ ไม่มีการหลบซ่อนตัว ตัวอย่างของ conjunctions ที่ใช้ขึ้นต้น adverbial clause ก็ได้แก่ where, when, before, after, as, while, until, since, as if, as though, because, so that, if, unless, although, though เป็นต้น
Jack ran [because he was afraid].
แจ๊กวิ่งหน้าตั้งเพราะเขากลัว
ประโยคนี้ adverbial clause ทำหน้าที่บอกเหตุผลของการกระทำใน main clause

Jane married John [so that she would inherit his fortune].
เจนแต่งงานกับตาจ้อนเพื่อว่าหล่อนจะได้รับมรดกตกทอดเมื่อเขาตาย
ประโยคนี้ adverbial clause ทำหน้าที่บอกเหตุผลของการกระทำใน main clause

Jane was six [when her mother died].
เจนอายุได้ 6 ปี ตอนที่แม่เธอตาย
ประโยคนี้ adverbial clause ทำหน้าที่บอกเวลา

I can’t help you [unless you tell me the truth].
ฉันช่วยอะไรเธอไม่ได้นะ ถ้าเธอไม่บอกความจริง
ประโยคนี้ adverbial clause ทำหน้าที่บอกเงื่อนไข

 

3. Relative clause

Relative clause (คุณานุประโยค) คือ clause ที่ทำหน้าที่ขยาย noun หรือ pronoun เพราะฉะนั้นบางคนอาจจะเรียกมันว่า adjective clause ก็ได้

โดยปกติแล้ว relative clause จะขึ้นต้นด้วย who, whom, which, that (สี่คำนี้อาจแปลเป็นไทยว่า “ที่/ซึ่ง/อัน”) หรือบางทีอาจขึ้นต้นด้วย whose + noun ตัวอย่างเช่น
Do you know anyone [who can lend me a car]?
คุณรู้จักใครที่พอจะให้ผมยืมรถได้ไหมครับ
ในประโยคนี้ relative clause ทำหน้าที่ขยายคำสรรพนาม anyone

You are free to marry the man [{who/whom} you love].
คุณมีอิสระที่จะแต่งงานกับผู้ชายที่คุณรัก
ในประโยคนี้ relative clause ทำหน้าที่ขยายคำนาม man
กรณีนี้เราสามารถละ who/whom ได้
นอกจากนี้ relative clause อาจจะขึ้นต้นด้วย where หรือ when แต่กรณีนี้จะต่างจาก adverbial clause นะครับ เพราะในที่นี้อนุประโยคของเราจะทำหน้าที่ขยายนาม เช่น
This is the house [where I spent my childhood].
นี่คือบ้านที่ฉันเคยใช้ชีวิตอยู่ตอนเด็ก
ในประโยคนี้ relative clause ทำหน้าที่ขยายคำนาม house

Sunday is the only day [when I can relax].
วันอาทิตย์เป็นวันเดียวที่ฉันสามารถผ่อนคลายได้
ในประโยคนี้ relative clause ทำหน้าที่ขยายคำนาม day

 

4. Comparative clause

Comparative clause เป็น clause ที่เกี่ยวข้องกับการเปรียบเทียบ ปกติแล้ว comparative clause จะขึ้นต้นด้วยคำว่า than หรือ as
Chiang Mai is more crowded [than it used to be].
จังหวัดเชียงใหม่แออัดขึ้นกว่าที่มันเคยเป็น

He is as smart [as she is].
เขาฉลาดพอ ๆ กับหล่อนเลย
นอกจากนี้ โครงสร้าง so … that และ such … that ก็อาจจัดอยู่ในกลุ่ม comparative clause ด้วย (กรณีนี้มักเรียกว่า clause of degree)
The coffee is so hot [that I can’t drink it].
กาแฟร้อนมากจนกระทั่งฉันไม่สามารถดื่มมันได้
It was such an extraordinary story [that no one believed a word of it].
มันเป็นเรื่องที่เกินธรรมดาเสียจนไม่มีใครเชื่อสักคำ

 

5. Prepositional clause

Prepositional clause มีโครงสร้างคือ preposition + wh- noun clause
We have little evidence [of who committed the murder].
เรามีหลักฐานน้อย (ไม่เพียงพอ) ที่จะระบุว่าใครเป็นฆาตรกร

You would be surprised [at how much things have changed].
แกจะต้องแปลกใจว่าอะไร ๆ มันเปลี่ยนไปมากแค่ไหน
พี่คิดว่าน้อง ๆ คงไม่เคยได้ยินชื่อ prepositional clause มาก่อน เพราะตำราไวยากรณ์ส่วนใหญ่จะอธิบายว่าโครงสร้างนี้มันก็เป็นแค่ noun clause ที่ถูกนำมาวางไว้ข้างหลัง preposition เท่านั้นเอง ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ แต่เผอิญมีนักไวยากรณ์อังกฤษตั้งชื่อนี้เอาไว้ พี่เห็นว่าเข้าท่าดี ก็เลยเอามาใช้บ้าง

สรุปว่าสิ่งที่ควรจำเกี่ยวกับ preposition ก็คือ “นอกจาก preposition จะตามหลังด้วย noun phrase หรือ Ving แล้ว มันยังสามารถตามหลังด้วย wh- noun clause ได้ด้วย”
บทความนี้เขียนโดยครูแมค เมื่อ April 26, 2011 โพสต์ครั้งแรกในเว็บไซต์ tutormax.wordpress.com และโพสต์ครั้งที่สองในเว็บไซต์ krumac.com

References
  1. Randolph Quirk, Sidney Greenbaum, Geoffrey Leech, and Jan Svartvik, A comprehensive grammar of the English language. London: Longman, 1985.
  2. Douglas Biber, Stig Johansson, Geoffrey Leech, Susan Conrad and Edward Finegan, Longman grammar of spoken and written English. London: Longman, 1999.
  3. Sidney Greenbaum and Gerald Nelson, An introduction to English grammar. London: Longman, 2002.
  4. Geoffrey Leech, Margaret Deuchar and Robert Hoogenradd, English grammar for today, 2nd edn. Palgrave Macmillan, 2005.
  5. Rodney Huddleston and Geoffrey K. Pullum, A student’s introduction to English grammar. Cambridge University Press, 2005.
  6. Ron Cowan, The Teacher’s Grammar of English: A Course Book and Reference Guide. Cambridge University Press, 2008.
  7. The Internet Grammar of English.
ตัวอย่างประโยคบางอันดัดแปลงมาจาก advanced learner’s dictionaries หลาย ๆ เล่ม ได้แก่ Cambridge, Collins COBUILD, Longman, Macmillan, Merriam Webster และ Oxford