บทความที่ 10: มารู้จัก Phrases ชนิดต่าง ๆ กันเถอะ



วันนี้เราจะมาเรียนเรื่อง phrases กันครับ เรื่องนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการเรียนไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ น้อง ๆ คิดว่าตัวเองรู้จักไอ้ phrases นี่ดีแค่ไหนครับ? ถ้ารู้จักดีแล้วก็ไม่จำเป็นต้องอ่านต่อครับ ไปดู YouTube หรือเล่น Facebook คลายเครียดดีกว่า (อ้าว ซะงั้น ;-))

พี่เคยพูดเรื่อง phrases ไว้บ้างแล้วในบทความก่อน ๆ โดยเฉพาะในบทความที่ 5 แต่ในบทความนั้นเป็นการพูดถึงแค่คร่าว ๆ วันนี้เราจะมาเจาะลึกลงไปในรายละเอียดมากขึ้น

คำว่า phrases แปลเป็นไทยได้ว่า “วลี” หรือ “กลุ่มคำ” เพราะฉะนั้นถ้าจะทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ น้องควรมีความรู้เรื่อง “คำ” เป็นพื้นฐานมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องชนิดของคำ (word classes หรือ parts of speech) ซึ่งมีอยู่หลัก ๆ 8 ชนิด ได้แก่
noun
verb
adjective
adverb — พี่เคยอธิบายเรื่อง adverb ไว้นิดหน่อยในบทความที่ 8
pronoun
determiner
preposition
conjunction
ถ้าน้องยังไม่รู้จักชนิดของคำทั้ง 8 ข้างบน พี่แนะนำให้หาอ่านจากหนังสือหรืออินเทอร์เน็ตก็ได้

ในภาษาอังกฤษเราสามารถแบ่ง phrases ออกได้เป็น 5 ชนิดตามรูปร่างหน้าตาของมัน แต่ละชนิดจะมีอะไรบ้างเดี๋ยวพี่จะบอกครับ แต่ก่อนอื่นอยากให้น้อง ๆ ลองอ่านประโยคข้างล่างนี้ก่อนครับ
The birds were singing very cheerfully outside my window.
ประโยคนี้แปลไม่ยากเลย จริงมั้ย? ถ้าน้องไม่รู้จักคำไหนก็เปิด dictionary เอาแค่นั้นเอง ต่อไปนี้พี่จะแบ่งประโยคนี้ออกเป็น phrases โดยใช้เส้น | คั่น
The birds | were singing | very cheerfully | outside my window.
คำที่เป็นตัวหนาคือคำหลัก (main word หรือ head) ของแต่ละ phrases

จากประโยคข้างบน เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า
  • the birds เป็น noun phrase (วลีที่มีคำหลักเป็น noun/pronoun)
  • were singing เป็น verb phrase (วลีที่มีคำหลักเป็น verb)
  • very cheerfully เป็น adverb phrase (วลีที่มีคำหลักเป็น adverb)
  • outside my window เป็น prepositional phrase (วลีที่มีคำหลักเป็น preposition)

น้องคงพอจะมองเห็นลักษณะของ phrases แต่ละชนิดแล้วนะครับ อ้อ ขาดไปอีก 1 ชนิด คือ adjective phrase น้องลองดูประโยคข้างล่างนี้เลย
They | seem | very happy.
ในประโยคนี้ very happy เป็น adjective phrase (วลีที่มีคำหลักเป็น adjective) คำถามต่อมาคือ they กับ seem ล่ะเป็นอะไร? ถ้ามองในระดับ “คำ” ก็ตอบได้เลยว่า they เป็น pronoun ส่วน seem เป็น verb แต่ตอนนี้เรากำลังวิเคราะห์ในระดับ phrase อยู่ น้องคิดว่าสองคำนี้เป็น phrase มั้ยครับ?

ถ้าตอบตามนักภาษาศาสตร์หรือนักไวยากรณ์สมัยใหม่ ก็ต้องตอบว่าคำว่า they และ seem ต่างก็เป็น phrase ด้วยกันทั้งคู่ ถึงแม้ว่าจะมีคำเพียงคำเดียวก็ตาม ดังนั้นในประโยคข้างบน
  • they เป็น noun phrase (เพราะมีคำหลักคือ they ซึ่งเป็น pronoun)
  • seem เป็น verb phrase (เพราะมีคำหลักคือ seem ซึ่งเป็น verb)

ถ้าน้องเข้าใจแล้ว ก็ลองวิเคราะห์ประโยคข้างล่างนี้ดูครับว่ามี phrases แบบไหนบ้าง
Bob | is | happy.
คงตอบกันได้ว่า Bob เป็น noun phrase, is เป็น verb phrase และ happy เป็น adjective phrase

บางคนอาจจะงง ๆ เพราะปกติที่เรียนกันมา คำว่า phrase แปลว่า “กลุ่มคำ” มันก็น่าจะประกอบด้วยคำอย่างน้อย 2 คำขึ้นไปนี่นา… อันที่จริงแล้ว คำ ๆ เดียวก็สามารถเป็น phrase ได้ครับ (ถ้าวิเคราะห์ตามหลักภาษาศาสตร์ปัจจุบัน)

เรามาดูโครงสร้างของ phrases แต่ละชนิดกันเลยดีกว่า


 

1. Noun phrase (NP)


Noun phrase (นามวลี) คือกลุ่มคำที่มี noun หรือ pronoun เป็นคำหลัก และอาจมี modifers (ส่วนขยาย) อยู่ด้วย

อย่างที่พี่เกริ่นไว้ข้างบน noun phrase อาจจะอยู่ในรูปของคำ ๆ เดียวก็ได้ เช่น
cats (noun)
he (pronoun)
it (pronoun)
everyone (pronoun)
ถ้า noun phrase มีส่วนขยายอยู่ข้างหน้านามตัวหลัก เราเรียกส่วนขยายนั้นว่า premodifier:
some black cats
เป็น NP ที่มี cats เป็นคำหลัก และมี some กับ black เป็น premodifiers
ถ้า noun phrase มีส่วนขยายอยู่ข้างหลังนามตัวหลัก เราจะเรียกส่วนขยายนั้นว่า postmodifier:
the best day of my life
เป็น NP ที่มี day เป็นคำหลัก โดยมี the best เป็น premodifier และมี of my life เป็น postmodifier
the girl that I love
เป็น NP ที่มี girl เป็นคำหลัก โดยมี the เป็น premodifier และมี that I love เป็น postmodifier

 

2. Verb phrase (VP)


Verb phrase (กริยาวลี) จะมี main verb (กริยาหลัก) 1 ตัว และอาจมี auxiliary verbs (กริยาช่วย) อยู่ข้างหน้าด้วย

Verb phrase อาจประกอบด้วย main verb เพียงตัวเดียวก็ได้ ลองดูประโยคต่อไปนี้นะครับ (verb phrase คือสีแดง)
We play tennis every day.
He plays tennis every day.
I played tennis last week.
หรือจะมี auxiliary verbs ปรากฏร่วมด้วยก็ได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ (ตัวบางคือ auxiliary verb; ตัวหนาคือ main verb)
I will play tennis tomorrow. (will play = verb phrase)
I can’t play tennis. (can't play = verb phrase)
Verb phrases ในตัวอย่างเหล่านี้ถือเป็น tensed verb phrases (กริยาวลีที่แสดง tense) นอกจากนี้ยังมี verb phrase อีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า non-tensed verb phrase (กริยาวลีที่ไม่แสดง tense)

ดูตัวอย่างกันเลยครับ (tensed verb phrase เป็นสีแดง; non-tensed verb phrase เป็นสีน้ำเงิน)
I love playing tennis.
ฉันชอบเล่นเทนนิส
I saw her being killed.
ฉันเห็นหล่อนถูกฆ่า
I don’t want to upset my mom.
ฉันไม่อยากทำให้แม่เสียใจ
น้องสามารถอ่านเรื่อง tensed verb phrases และ non-tensed verb phrases เพิ่มเติมได้ในบทความที่ 1 และบทความที่ 6

ไหน ๆ ก็พูดถึง verb phrases แล้ว พี่ก็จะถือโอกาสพูดถึง verbs ชนิดพิเศษที่ประกอบด้วยคำมากกว่า 1 คำ หรือที่เรียกว่า multi-word verbs
 
Multi-word verbs

Multi-word verb คือกริยาที่ประกอบด้วย verb หนึ่งตัวตามด้วย preposition หรือ adverb particle (adverb particle หมายถึง adverb ที่เป็นคำสั้น ๆ เช่น up, out, off) เราแบ่ง multi-word verbs ออกเป็น 3 ประเภทคือ phrasal verbs, prepositional verbs และ phrasal-prepositional verbs แต่ละแบบเป็นยังไง ไปดูตัวอย่างกันเลยครับ
I give up!
ฉันยอมแพ้ (= เลิกทำ/เลิกล้มความพยายาม)
– เราเรียก give up ว่า phrasal verb
– phrasal verb ประกอบด้วย verb + adverb particle
– ในที่นี้ up เป็น adverb นะครับ ไม่ได้เป็น preposition
– เราถือว่า give up เป็น 1 verb phrase
John is looking after his parents.
จ้อนกำลังดูแลพ่อแม่ของเขา
– เราเรียก look after ว่า prepositional verb
– prepositional verb ประกอบด้วย verb + preposition
– ในที่นี้ after เป็น preposition
– เราถือว่า is looking after เป็น 1 verb phrase
Never look down on anybody.
อย่าดูถูกใครเป็นอันขาด
– เราเรียก look down on ว่า phrasal-prepositional verbs
– phrasal-prepositional verbs ประกอบด้วย verb + adverb particle + preposition
– ในที่นี้ down เป็น adverb และ on เป็น preposition
– เรามอง look down on เป็น 1 verb phrase 


 

3. Adjective phrase (AdjP)


Adjective phrase (คุณศัพท์วลี) คือกลุ่มคำที่มี adjective เป็นคำหลักและอาจมีส่วนขยายอยู่ด้วย

Adjective phrase อาจจะประกอบด้วย adjective ตัวเดียวโดด ๆ หรืออาจจะมีส่วนขยายข้างหน้าที่เรียกว่า premodifer และส่วนขยายข้างหลังที่เรียกว่า postmodifier ด้วยก็ได้ ลองดูตัวอย่างกันเลยนะครับ (adjective phrase คือส่วนที่ขีดเส้นใต้)
Jack is handsome.
↪ handsome เป็น AdjP ที่มี handsome คำหลัก ไม่มี modifier

John is very intelligent.
↪ very intelligent เป็น AdjP ที่มี intelligent เป็นคำหลัก และมี very เป็น premodifier

John is afraid of heights.
↪ afraid of heights เป็น AdjP ที่มี afraid เป็นคำหลัก และมี of heights เป็น postmodifier

We are happy to see you.
↪ happy to see you เป็น AdjP ที่มี happy เป็นคำหลัก และมี to see you เป็น postmodifier

I am relieved that nobody was hurt.
↪ relieved that nobody was hurt เป็น AdjP ที่มี relieved เป็นคำหลัก และมี that nobody was hurt เป็น postmodifier

 

4. Adverb phrase (AdvP)


Adverb phrase (กริยาวิเศษณ์วลี) คือกลุ่มคำที่มี adverb เป็นคำหลักและอาจมีส่วนขยายอยู่ด้วย

Adverb phrase อาจจะประกอบด้วย adverb ตัวเดียวโดด ๆ หรืออาจจะมีส่วนขยายข้างหน้าที่เรียกว่า premodifer และส่วนขยายข้างหลังที่เรียกว่า postmodifier ด้วยก็ได้ ลองดูตัวอย่างกันเลยนะครับ (adverb phrase คือส่วนที่ขีดเส้นใต้)
The engine was running smoothly.
↪ smoothly เป็น AdvP ที่มี smoothly เป็นคำหลัก ไม่มี modifier

You’re driving too fast!
↪ too fast เป็น AdvP ที่มี fast เป็นคำหลัก และมี too เป็น premodifier

 

5. Prepositional phrase (PP)


Prepositional phrase (บุพบทวลี) มีโครงสร้างคือ preposition + noun phrase เช่น
in my bedroom
PP นี้มี in เป็น preposition ตามด้วย noun phrase คือ my bedroom
on the table
PP นี้มี on เป็น preposition ตามด้วย noun phrase คือ the table

เราลองมาดูกันนิดนึงว่า เมื่อ prepositional phrase ปรากฏอยู่ในประโยคมันทำหน้าที่อะไรได้บ้าง (prepositional phrase คือส่วนที่ขีดเส้นใต้)

I like to read in bed.
บุพบทวลี in bed ทำหน้าที่เป็น adverbial ขยายกริยา read

I took several courses in history.
บุพบทวลี in history ทำหน้าที่เป็น postmodifier ของคำนาม courses

I am not happy with my marks this term.
บุพบทวลี with my marks ทำหน้าที่เป็น postmodifier ของคำคุณศัพท์ happy


พี่ขอจบเรื่อง phrases ไว้เท่านี้

พี่มีเรื่องหนึ่งที่อยากให้น้องเข้าใจเกี่ยวกับการเรียน grammar คือ ระบบการวิเคราะห์ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษไม่ได้มีแค่ระบบเดียว ดังนั้นน้องอาจพบบ่อย ๆ ว่า ไปอ่านหนังสือมาเป็นอย่างหนึ่ง ครูสอนอีกอย่างหนึ่ง พี่แมคสอนอีกอย่างหนึ่ง เรื่องนี้บางทีก็ไม่มีใครผิดหรอก แต่เราอาจจะใช้คนละระบบกัน อาจารย์บางท่านอาจจะสอนตามระบบไวยากรณ์ดั้งเดิม (traditional grammar) ส่วนพี่แมคจะวิเคราะห์ไวยากรณ์ตามแนวทางของ A Comprehensive Grammar of the English Language (CGEL) ซึ่งเป็นหนังสือ (คัมภีร์) ที่ปรมาจารย์ Randolph Quirk และคณะได้เขียนเอาไว้ เพียงแต่พี่เอามาปรับเปลี่ยนนิดหน่อยเพื่อให้น้อง ๆ เข้าใจได้ง่ายขึ้น ระบบของ CGEL นี้สามารถวิเคราะห์ไวยากรณ์ของภาษาอังกฤษได้ดี และเป็นระบบที่เข้าใจได้ไม่ยาก นอกจากนี้ตำราภาษาอังกฤษหลาย ๆ เล่มของประเทศอังกฤษในปัจจุบันก็อิงกับระบบนี้

พูดอย่างนี้อาจจะยังไม่เห็นภาพ น้องลองดูตัวอย่างประโยคต่อไปนี้นะ
Cut it with a knife.
คำถามคือ with a knife เป็น phrase ชนิดไหน? ถ้ายึดตามที่พี่สอนข้างบน ก็คงตอบได้ไม่ยากว่ามันเป็น prepositional phrase เพราะตามระบบที่พี่ใช้ พี่จะดูจาก “รูปร่างหน้าตา” ของมันเป็นหลัก (พอเห็น preposition + noun phrase ก็เรียกมันว่า prepositional phrase เลย) แต่บางคนอาจจะเรียก with a knife ในประโยคนี้ว่าเป็น adverb phrase เพราะมันทำหน้าที่เสมือน adverb คือขยายกริยา cut คำอธิบายแบบนี้ก็ไม่ผิดแต่เป็นการใช้คำว่า adverb ในความหมายอย่างกว้าง คือเค้าใช้หลักว่าอะไรก็ตามที่ขยาย verb ก็ถือเป็น adverb ได้หมด แต่ถ้าเรียนกับพี่แมค with a knife จะไม่ใช่ adverb phrase นะครับ เพราะ adverb phrase ที่พี่สอนจะต้องมี adverb เป็นคำหลัก

คงไม่งงกันนะครับ สรุปคือถ้ายึดตามหลักการที่พี่อธิบายไว้ตอนต้น with a knife จะเรียกว่า prepositional phrase แต่ถ้าถามว่ามันทำหน้าที่อะไรในประโยค “Cut it with a knife.” คำตอบคือทำหน้าที่เป็น adverbial (อ่านเรื่อง adverbial ได้ในบทความที่ 5) ดังนั้นถ้าต้องการเรียกชื่อ phrase นี้ตามหน้าที่ของมันในประโยค เราอาจเรียกมันว่า adverbial phrase ก็ได้ (ซึ่งจะต่างจาก adverb phrase ตามนิยามที่พี่ให้ไว้ตอนแรกนะครับ)

แต่ชื่อนั้นสำคัญไฉน? จริง ๆ แล้วชื่อเรียกก็ไม่ไช่เรื่องสำคัญอะไรมากมายนัก ขอแค่มันไม่ทำให้เราสับสนก็พอ แต่ที่พี่พูดเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะพี่เคยเห็นน้องบางคนถกกันเรื่องไวยากรณ์ คนนึงบอกว่าไอ้นี่เรียกว่าไอ้โน่น อีกคนนึงแย้งว่าไม่ใช่ ไอ้นี่เรียกว่าไอ้นั่นต่างหาก พอคนที่สามมาร่วมวงด้วยก็บอกว่าสองคนแรกผิดทั้งคู่ ที่ถูกคือ ไอ้โน่นเรียกว่าไอ้นู่น ฯลฯ หรือบางคนบอกว่าเรียนที่นี่มาเค้าบอกว่าอย่างนี้ อีกคนบอกว่าเรียนที่นั่นมาเค้าบอกว่าอย่างนั้น เรื่องพวกนี้จริง ๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับว่าเราใช้กรอบแนวคิด (framework) อะไรในการวิเคราะห์ บางทีก็ถูกทุกคนนั่นแหละ (ถ้าคนที่พูดเข้าใจจริง ๆ ไม่ได้มั่วมา)

ดังนั้น ถ้าเราเรียนไวยากรณ์ภาษาอังกฤษเพื่อนำไปใช้งานหรือเพื่อใช้สอบ ก็ขอให้ยึดแนวทางใดแนวทางหนึ่งเป็นหลักก็พอ (ถ้าเรียนหลายสำนักอาจสับสน) เพราะไม่ว่าแนวทางไหนมันก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หมดแหละ ถ้าน้องเข้าใจมันจริง ๆ เวลาสอบเค้าก็ไม่มาถามเราหรอกว่าอะไรเป็น noun phrase อะไรเป็น adjective phrase (ยกเว้นว่ากำลังเรียนวิชา syntax ในมหาวิทยาลัยที่ต้องมานั่งวาดแผนภาพต้นไม้เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างประโยค) เราแค่แต่งประโยคให้ถูก ตอบข้อสอบให้ถูกก็พอ อย่างที่เค้าว่าไว้ว่า “แมวไม่ว่าจะสีอะไรไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ” :-)

บทความนี้เขียนโดยครูแมค เมื่อ April 21, 2011 โพสต์ครั้งแรกในเว็บไซต์ tutormax.wordpress.com และโพสต์ครั้งที่สองในเว็บไซต์ krumac.com

References
  1. Randolph Quirk, Sidney Greenbaum, Geoffrey Leech, and Jan Svartvik, A comprehensive grammar of the English language. London: Longman, 1985.
  2. Douglas Biber, Stig Johansson, Geoffrey Leech, Susan Conrad and Edward Finegan, Longman grammar of spoken and written English. London: Longman, 1999.
  3. Sidney Greenbaum and Gerald Nelson, An introduction to English grammar. London: Longman, 2002.
  4. Geoffrey Leech, Margaret Deuchar and Robert Hoogenradd, English grammar for today, 2nd edn. Palgrave Macmillan, 2005.