บทความที่ 9: Error Identification อีกข้อ (GAT มี.ค. 53)


ข้อนี้เอามาจากข้อสอบ GAT ที่สอบไปเมื่อเดือนมีนาคม 2553 ข้อนี้ก็ง่ายมากอีกแล้ว ถ้าน้องฝึกทำโจทย์มามาก ๆ ก็น่าจะเคยเห็นโจทย์ลักษณะนี้มาแล้ว ลองทำดูเลย

(1) Alike other mineral grains, (2) those in basalt are so small (3) that they cannot be seen with the (4) naked eye.

คำตอบคือข้อ…

ข้ออะไร ตอนนี้ยังไม่บอก เดี๋ยวจะบอกตอนท้ายครับ อิอิ (มุกเดิมอีกแล้ว) ถ้าน้องมั่นใจว่าตอบถูก ก็เชิญรูดเมาส์ลงไปดูเฉลยได้เลยครับ (เฉลยอยู่ตอนท้าย ๆ ของบทความนี้) แต่ถ้าไม่มั่นใจก็อย่าเพิ่งครับ ค่อย ๆ อ่านสิ่งที่พี่จะสอนต่อไปนี้ก่อน

 

เรื่องที่ 1: Like, Unlike, Alike, Dislike


ก่อนอื่นตอบคำถามพี่ก่อนว่าสองประโยคข้างล่างนี้มีความหมายแตกต่างกันอย่างไร?
(a) John is like his father.
(b) John likes his father.
ตอบกันได้มั้ยครับ? คำตอบก็คือ ประโยค (a) แปลว่า “จ้อนเหมือนพ่อของเขา” ส่วนประโยค (b) แปลว่า “จ้อนชอบพ่อของเขา”

คำว่า like ในประโยค (a) เป็น preposition ซึ่งตามปกติแล้วจะต้องมี noun phrase ตามมาข้างหลัง (ในที่นี้คือ his father) น้อง ๆ ควรสังเกตด้วยว่าเราสามารถใช้ preposition ตามหลัง verb to be ได้ (ในที่นี้คือ is)

ประโยค John is like his father. มีโครงสร้างคือ S + V + C (ดูบทความที่ 5) โดยที่ S = John; V = is; C = like his father ในที่นี้ C (complement) ของเราอยู่ในรูป prepositional phrase ส่วน V ในโครงสร้างนี้ต้องเป็น linking verb เช่น be, look, sound เป็นต้น เพราะฉะนั้นนอกจากเราจะพูดว่า John is like his father. แล้ว เราอาจจะพูดว่า John looks like his father. ก็ได้ แต่ความหมายจะเปลี่ยนไปเล็กน้อย เพราะ look like จะแปลว่า “ดูเหมือน” (เน้นที่รูปร่างหน้าตาภายนอก)

ส่วนประโยค (b) คำว่า like เป็น verb ดังนั้นโครงสร้างของประโยคนี้ก็คือ S + V + O ธรรมดา ขอให้สังเกตด้วยว่าในที่นี้กริยาของเราอยู่ในรูป present simple tense คือ likes ซึ่งผันตามประธาน he นั่นเอง

คำถามต่อไปครับ สองประโยคนี้มีความหมายต่างกันอย่างไร?
(c) Jim is unlike his father.
(d) Jim dislikes his father.
ตอบกันได้มั้ย? คำตอบก็คือ ประโยค (c) หมายถึง “จิ๋ม เอ้ย จิมไม่เหมือนพ่อ” ส่วนประโยค (d) หมายถึง “จิมไม่ชอบพ่อ” ในที่นี้คำว่า unlike เป็น preposition ส่วน dislike เป็น verb

คำถามต่อไป ประโยคข้างล่างนี้หมายความว่ายังไง?
(e) John and his father are alike in many ways.
แปลถูกมั้ยครับ? ง่าย ๆ ใช่ปะ “จ้อนและพ่อของเขาเหมือนกันในหลาย ๆ ด้าน” คำว่า alike ในที่นี้เป็น adjective ทำหน้าที่บรรยายประธาน สิ่งที่ต้องระวังก็คือคำว่า alike นี้เป็น adjective ที่ใช้วางหลัง linking verb เท่านั้นนะครับ เราจะไม่เอามันมาเป็นตัวขยายหน้า noun เด็ดขาด เพราะฉะนั้น เราจะไม่มีวันเขียนว่า alike children เด็ดขาด

อ่านประโยคต่อไป แล้วตอบตัวเองครับว่าหมายความว่ายังไง
(f) John and his father think alike.
ประโยคนี้แปลว่า “จ้อนและพ่อของเขาคิดเหมือนกัน” ในที่นี้ alike เป็น adverb ทำหน้าที่ขยายคำว่า think ซึ่งเป็น verb (ถ้าไม่รู้ว่า adverb คืออะไรและมีบทบาทยังไง ลองอ่านบทความที่ 8 ดูครับ)

น้อง ๆ บางคนอาจจะเริ่มบ่นในใจว่า อะไรมันจะยุ่งยากขนาดนี้ (วะ) แล้วจะจำหมดไหมเนี่ย? อันที่จริงก็ไม่ยากครับ ค่อย ๆ จำไป ทบทวนบ่อย ๆ เดี๋ยวก็ได้เอง พี่แนะนำให้อ่านหลักการให้เข้าใจ แล้วจำตัวอย่างประโยค (a) – (f) ไว้ในสมองเพื่อนำไปประยุกต์ต่อครับ พี่มีหลักการเรียนภาษาอยู่ข้อหนึ่งคือ “ท่องประโยคดีกว่าท่องสูตร”

 

เรื่องที่ 2: so … that, such … that และ too … to


ตอบคำถามกันก่อนว่าประโยคนี้แปลว่าอะไร
(g) Jack was so weak that he could not stand up.
ประโยคนี้แปลว่า “แจ๊กอ่อนแอมากจนกระทั่งเขาไม่สามารถยืนขึ้นได้” น้อง ๆ ควรสังเกตด้วยว่าประโยคนี้บรรยายถึงเหตุการณ์ในอดีต เพราะกริยาอยู่ในรูป past tense พี่เอาประโยค (g) มาให้ดูเพื่อให้น้องได้เรียนรู้โครงสร้าง [so + adj/adv + that-clause] เราจะใช้ adjective หรือ adverb ก็ขึ้นกับคำกริยาที่อยู่หน้าคำว่า so ในที่นี้กริยาข้างหน้าเป็น linking verb เราก็เลยใช้ adjective คือ weak นอกจากนี้เรายังสามารถละคำว่า that ได้ด้วยนะครับโดยเฉพาะในภาษาแบบไม่เป็นทางการ นั่นคือ เราอาจพูดว่า Jack was so weak he could not stand up. ก็ได้ ไม่ผิด

ดูประโยคต่อไปเลยครับ ถ้าแปลได้ก็ลองแปลดู
(h) Jack was too weak to stand up.
ประโยคนี้แปลว่า “แจ๊กอ่อนแอเกินกว่าที่จะยืนขึ้น” จะเห็นว่าความหมายของประโยคนี้ก็คล้าย ๆ ประโยค (g) แต่โครงสร้างต่างกัน ในประโยค (h) เราใช้ pattern [too + adj/adv + to + V0] โดยที่ V0 ในสูตรนี้หมายถึงกริยาไม่ผัน

น้อง ๆ จำประโยค (g) และ (h) ไว้ในหัวเลยนะครับ เพราะจะมีประโยชน์ในภายภาคหน้า เช่น ถ้าเกิดเราเจอโจทย์ว่า Jack was too weak that he could not stand up. เราก็ตอบได้เลยว่ามันผิดแน่นอน โอเคนะครับ ดูประโยคต่อไปเลย
(i) Jack was such a weak person that he could not stand up.
นี่ก็อีกโครงสร้างหนึ่งคือ [such + noun phrase + that-clause] ประโยค (i) แปลว่า แจ๊กเป็นคนอ่อนแอมากซะจนกระทั่งเขาไม่สามารถยืนขึ้นได้
(j) Jack was so weak a person that he could not stand up.
ประโยค (j) มีความหมายเหมือนประโยค (i) แต่มีการเน้น adjective คำว่า weak ประโยคนี้ใช้โครงสร้าง [so + adjective + a/an + noun + that-clause] 

 

เรื่องที่ 3: this/that/these/those


สี่คำนี้แปลว่า นี้/นั้น/เหล่านี้/เหล่านั้น ตามลำดับ มีวิธีใช้เบื้องต้นดังนี้
  1. ใช้เป็น determiners (คำนำหน้านาม) เช่น this car, that car, these cars, those cars (สังเกตคำนามที่ตามหลังนะครับ this/that + นามเอกพจน์ ส่วน these/those + นามพหูพจน์)
  2. ใช้เป็น pronouns (คำสรรพนาม) คือ ใช้มันโดด ๆ นี่แหละ ไม่ต้องมีนามมาตามหลัง หรือพูดอีกอย่างคือใช้แทนคำนามหรือกลุ่มคำนามไปเลย เช่น สมมติพี่หยิบปากกาขึ้่นมาด้ามนึงแล้วพูดว่า Look at this! คำว่า this ก็หมายถึงปากกาด้ามที่พี่ถืออยู่นั่นเอง เพราะเห็น ๆ กันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพูดว่า this pen ก็ได้ แต่ถ้าพี่หยิบปากกาขึ้นมาเป็นกำเลย พี่ก็ต้องพูดว่า Look at these! ใช่มั้ยครับ (ใช้ these เพราะปากกามีหลายด้าม) ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า คำว่า this/that จะอ้างถึงนามเอกพจน์ ส่วน these/those จะอ้างถึงนามพหูพจน์ 

 

เรื่องที่ 4: เรื่องโป๊ ๆ กับคำว่า naked


คำว่า naked นี้ดูเผิน ๆ เหมือนเป็น verb เติม -ed แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่

naked (อ่านว่า เน้-ขิด) เป็น adjective แปลว่า เปลือย, โป๊ เช่น a naked man (ผู้ชายที่ใส่ชุดวันเกิด) สำนวนที่น่าสนใจคือ the naked eye (ตาเปล่า) ตัวอย่างเช่น
Though extremely small, this insect is visible to the naked eye.
แม้ว่ามันจะตัวเล็กมาก ๆ แต่แมลงนี้ก็สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่านะ
(ตัวอย่างประโยคจาก M-W’s learner’s dictionary)
วลี visible to the naked eye แปลว่า “สามารถถูกมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า” แต่ถ้าจะบอกว่า “ไม่สามารถถูกมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า” เราก็ใช้ว่า invisible to the naked eye ครับ อยากให้น้อง ๆ สังเกตนิดนึงว่าสำหรับสำนวนนี้ เราจะใช้ eye ในรูปเอกพจน์ และต้องมี the เสมอ

คำว่า naked นี้ ถ้าต้องการแปลงเป็น adverb ก็เติม -ly เข้าไปเป็น nakedly ถ้าจะแปลงเป็น noun ก็เติม -ness ข้างท้ายกลายเป็น nakedness


จบแล้วครับ! น้อง ๆ กลับไปดูโจทย์กันได้เลย

(1) Alike other mineral grains, (2) those in basalt are so small (3) that they cannot be seen with the (4) naked eye.

ข้อ (4) ง่ายสุด เพราะพี่เพิ่งพูดไปหยก ๆ the naked eye ถูกชัวร์ป้าบ

ข้อ (3) ขีด that ซึ่งเป็นตัวขึ้นต้น that-clause เหลือบไปดูข้างหน้าหน่อยนึง มีคำว่า so อยู่ โครงสร้างถูกเป๊ะ so…that

ข้อ (2) เค้าใช้คำว่า those โดด ๆ (ไม่ได้นำหน้านาม) แสดงว่าเป็น pronoun ถามว่า those อ้างถึงอะไร อยากรู้ก็ดูข้างหน้าสิมีคำนามมั้ย มีแน่นอนคือ grains ซึ่งเป็นพหูพจน์ ดังนั้น ใช้ those แทน grains ก็ถูกต้องแล้ว ในที่นี้ those ทำหน้าที่เป็น subject ด้วย ลองเช็คดูหน่อยว่า S กับ V สอดคล้องกันมั้ย? คำตอบคือสอดคล้องกันดีแล้ว (those สอดคล้องกับ are)

ข้อ (1) ล่ะ? เหลือข้อเดียวแล้ว ก็ต้องตอบข้อนี้แหละ จริงมั้ย? เอ… แต่ก็ไม่แน่นะ ข้อสอบอาจจะออกมาผิด ทำให้ไม่มีคำตอบก็เป็นได้ แต่คงไม่หรอกเนอะ ระดับ สทศ. จะพลาดได้ไงจริงมั้่ยครับน้อง ๆ อิอิ ;-) พี่ถามว่าใช้ alike + noun phrase แบบนี้ได้มั้ย? คำตอบคือไม่ได้ เพราะเราใช้ alike เป็น adjective หรือ adverb อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ถ้าใช้เป็น adjective ก็จะต้องวางหลัง linking verb (ห้ามวางหน้า noun) และถ้าเป็น adverb ก็ต้องวางหลัง verb เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีวันเห็น alike ขึ้นต้นประโยคแบบนี้เป็นอันขาด

แล้วควรแก้เป็นอะไรดีครับ? ง่าย ๆ ก็ต้องแก้จาก alike ให้เป็น like (preposition)

บางคนอาจจะสงสัยว่า like กับ unlike นี่มันเอามาขึ้นต้นประโยคได้ด้วยหรือ เพราะพี่ไม่ได้อธิบายไว้ข้างบน คำตอบคือได้ เพราะ like/unlike + noun phrase = prepositional phrase เมื่อเรานำ prepositional phrase มาเพิ่มเติมข้อมูลให้กับ clause เราจะนำมันมาวางไว้ต้นหรือท้ายประโยคก็ได้ ตัวอย่างเช่น
Like her mother, Jane is a good cook.
Jane is a good cook, like her mother.
(เจนทำอาหารเก่งเหมือนแม่ของหล่อนเลย)
Unlike his father, Jim is not very intelligent.
Jim is not very intelligent, unlike his father.

(จิมไม่ค่อยฉลาด ไม่เห็นเหมือนพ่อของเขาเลย)
ในกรณีนี้ prepositional phrase ทำหน้าที่เป็น adverbial ในประโยค

วันนี้คงยุติแต่เพียงเท่านี้ครับ ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านครับ

บทความนี้เขียนโดยครูแมค เมื่อ April 15, 2011 โพสต์ครั้งแรกในเว็บไซต์ tutormax.wordpress.com และโพสต์ครั้งที่สองในเว็บไซต์ krumac.com