บทความที่ 7: ตัวอย่างข้อสอบ Error Identification อีกข้อหนึ่ง


As an active, commit global corporation, we join worldwide efforts to promote awareness of endangered species.

ผิดตรงไหนเอ่ย? (กรุณาคิดด้วยตัวเองก่อนดูเฉลย)

เฉลย


ข้อนี้ผิดที่คำว่า commit ทำไมถึงผิดล่ะ? ถ้าตอบแบบสั้น ๆ ก็คือ commit เป็น verb แต่ในที่นี้เราต้องใช้รูป adjective เพื่อไปขยายคำนาม corporation ดังนั้นจึงต้องแก้ commit (v.) ให้เป็น committed (adj.) ครับ

สำหรับน้อง ๆ ที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษดีอยู่แล้ว พอพี่แมคอธิบายแค่นี้น้องก็คงจะ “get” แล้วใช่มั้ยครับ แต่สำหรับน้อง ๆ ที่มีพื้นฐานไม่แข็งแรง การอ่านคำอธิบายเพียงเท่านี้ไม่พอแน่ครับ แถมอาจจะไม่เกิดประโยชน์อีกต่างหาก แล้วจะทำยังไงดีล่ะ?

วิธีที่ดีที่สุดก็คือ กลับไปทบทวนไวยากรณ์ใหม่ทั้งหมดก่อนที่จะมาทำข้อสอบประเภทนี้ อีกวิธีคือใช้ข้อสอบเป็นตัวตั้งแล้วหาคนที่สามารถอธิบายวิธีคิดอย่างละเอียดให้น้องได้ (หรือหาหนังสือที่มีเฉลยวิธีคิดอย่างละเอียด แล้วค่อย ๆ ทำความเข้าใจไป) ทั้งสองวิธีที่ว่ามานี้ต่างก็มีจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวมันเองนะครับ น้องอาจจะทำทั้งสองวิธีควบคู่กันไปก็ได้

ต่อไปนี้พี่แมคจะวิเคราะห์ประโยคในโจทย์ข้อนี้ให้น้องดูอย่างละเอียด


น้องดูภาพข้างบนแล้วอ่านคำอธิบายต่อไปนี้ประกอบกันไปนะครับ

เวลาทำข้อสอบประเภท error identification ถ้าน้องอ่านโจทย์แล้วยังไม่สามารถหาที่ผิดได้ในทันที ก็ให้หา subject (S) และ verb (V) ของประโยคหลัก (main clause) ก่อน ซึ่งจากภาพข้างบนพี่ก็บอกไว้ชัดแล้วว่า S = we และ V = join (สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าหา S และ V มาได้อย่างไร ก็ควรไปทำความเข้าใจเรื่อง clauses ก่อนครับ บทความก่อน ๆ ก็มีเขียนไว้บ้าง ลองไปไล่อ่านดูนะครับ)

เพื่อความสะดวกในการอธิบาย พี่แมคจะหั่นประโยคเป็น 3 ท่อน ดังนี้

ท่อนที่ 1: As an active, committed global corporation,


มาดูคำศัพท์กันสักหน่อย แม้ในความเป็นจริงเราอาจจะไม่ต้องรู้ศัพท์ทั้งหมดก็สามารถทำข้อสอบได้ก็ตาม แต่น้องควรรู้ศัพท์มากพอที่จะจับใจความของประโยคอย่างคร่าว ๆ ได้
as (prep) = ในฐานะที่เป็น
active (adj) = ที่ตื่นตัว
commit (v) = กระทำ, ให้คำมั่น
committed (adj) = ซึ่งอุทิศตน
global (adj) = ที่เกี่ยวข้องกับทั้งโลก, ระดับโลก (มาจาก globe (n) = โลก)
corporation (n) = บริษัท
ท่อนที่ 1 นี้เป็นวลีที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า as ซึ่งเป็น preposition (บุพบท) แล้วตามด้วย noun phrase (นามวลี) คือ an active, committed global corporation (โดยที่ noun ตัวหลักคือ corporation นอกนั้นเป็นคำขยาย)

Noun phrase ที่มี preposition เป็นติ่งอยู่ข้างหน้าอย่างนี้ เราเรียกรวมกันว่า prepositional phrase (บุพบทวลี)

คำว่า active และ global เป็น adjective ไปขยายคำนามคือ corporation (ดูแผนภาพข้างบนประกอบ) แล้วรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็น adjective ล่ะ? อืมม์… มันก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรรู้นะครับถ้าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าใครไม่รู้ก็ถือว่าอาการหนักนะครับ เหอ ๆ เอาล่ะ ถ้าไม่รู้ก็ให้สังเกตจากตำแหน่งและรูปคำ

สังเกตจากตำแหน่ง
ถ้าจะมีคำมาคั่นระหว่าง an กับ noun ส่วนมากมันก็เป็น adjective นั่นแหละ เพราะ adjective มันต้องขยาย noun ข้างหลัง (ลองไปดู mind map เรื่อง clause patterns ที่พี่เคยโพสต์ไว้นะ)
สังเกตจากรูปคำ
คำว่า active ลงท้ายด้วย -ive ดังนั้นมันน่าจะเป็น adjective
คำว่า global ลงท้ายด้วย -al ดังนั้นมันน่าจะเป็น adjective

ตอนนี้เรารู้แล้วว่า active และ global ต่างก็เป็น adjective ทั้งคู่ เราก็คิดต่อไปว่าคำที่อยู่ระหว่างกลางของ 2 คำนี้มันก็น่าจะต้องเป็น adjective ด้วย เพราะมันน่าจะไปขยายคำนาม corporation เหมือนกัน (พี่แมคใช้คำว่า “น่าจะ” เพราะในบางกรณี ตำแหน่งนี้อาจจะเป็น adverb ที่ไปขยาย adjective ข้างหลังก็ได้)

ถึงตอนนี้แล้ว น้องก็ต้องรู้จักคำศัพท์คำว่า commit นะครับ คำว่า commit ที่โจทย์ให้มาเป็น verb แต่ตรงนี้เราต้องการ adjective ดังนั้น เราต้องแก้ให้เป็น committed ครับ (-ed สามารถใช้แปลง verb บางคำให้เป็น adjective ได้)

OK มั้ยครับ? มาดูท่อนต่อไปเลย

ท่อนที่ 2: we join worldwide efforts


เริ่มจากดูคำศัพท์กันก่อน
join (v) = ร่วม, เข้าร่วม
worldwide (adj) = ทั่วโลก
effort (n) = ความพยายาม (คำนี้เป็นได้ทั้งนามนับได้และนามนับไม่ได้)
คำว่า join เป็นกริยาที่ต้องการกรรม ในที่นี้กรรมของมันคือ worldwide efforts ซึ่งก็น่าจะใช้ได้แล้วเนอะ เพราะมันอยู่ในรูป noun phrase ที่มี efforts เป็นนามตัวหลัก ส่วน worldwide เป็น adjective ขยายอยู่ข้างหน้า

โจทย์ขีดเส้นใต้คำว่า efforts เราก็เช็คเค้าหน่อยละกันว่ามันผิดมั้ย? เติม -s อย่างนี้ถูกหรือยัง? คำตอบคือถูกแล้วนะครับ เพราะพี่บอกไว้ข้างบนแล้วว่า effort สามารถใช้เป็นนามนับได้ก็ได้ ดังนั้นมันจึงสามารถเติม -s ให้เป็นพหูพจน์ได้

เข้าใจไหมครับ ถ้ายังไม่เข้าใจลองอ่านดูอีกทีนะครับ ถ้าเข้าใจแล้วก็ลุยต่อเลย

ท่อนที่ 3: to promote awareness of endangered species


คำศัพท์…
promote (v) = ส่งเสริม
awareness (n) = จิตสำนึก, ความตระหนัก
endangered (adj) = ที่ใกล้สูญพันธุ์
species (n) = สปีชีส์ (ชนิดของสัตว์/พืช)
ท่อนที่ 3 ของเราอยู่ในรูป to-infinitive clause ซึ่งก็คือ clause ที่ขึ้นต้นด้วย to แล้วตามด้วยกริยาที่ไม่ผันและไม่แสดง tense

น้องบางคนที่มีพื้นฐานไวยากรณ์มาบ้างอาจสงสัยว่าไอ้นี่มันเรียกว่า clause ได้ด้วยเหรอ เพราะ clause มันน่าจะประกอบด้วย subject กับ verb แท้นี่นา พี่แมคก็ขอตอบว่า ถ้าวิเคราะห์ตามแนวทางไวยากรณ์ดั้งเดิม (traditional grammar) มันก็เป็นไปตามที่น้องเข้าใจนั่นแหละครับ นักไวยากรณ์ดั้งเดิมเค้าจะบอกว่า “to promote awareness of endangered species” ไม่ใช่ clause แต่เป็นเพียงแค่ phrase เพราะ verb ที่ปรากฏคือ to promote เป็น verb ไม่แท้ แถมยังไม่มี subject ปรากฏให้เห็นอีก แต่ถ้าวิเคราะห์ตามแนวทางภาษาศาสตร์ปัจจุบัน เราจะถือว่า “to promote awareness of endangered species” เป็น clause ชนิดหนึ่งได้ครับ (จัดอยู่ในหมวด non-tensed clauses)

ใน to-infinitive clause มี verb คือ to promote ซึ่งเป็นกริยาที่ต้องการกรรม ในที่นี้กรรมของมันคือ awareness of endangered species ซึ่งน่าจะใช้ได้แล้วเนอะ เพราะมันอยู่ในรูป noun phrase ที่มี awareness เป็นคำนามตัวหลัก (สังเกตจากหน่วยท้ายศัพท์ -ness ก็ได้) นอกจากนี้เราก็ควรรู้ด้วยว่า awareness เป็นนามนับไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันก็สามารถอยู่โดด ๆ ได้โดยก็ไม่ต้องมีคำนำหน้าพวก a, an, the, etc. นะครับ

คำนาม awareness นี้มีส่วนขยายคือ of endangered species ซึ่งอยู่ในรูปของ prepositional phrase
prepositional phrase = preposition + noun phrase
ในที่นี้ preposition คือ of และ noun phrase คือ endangered species (คำว่า endangered เป็น adjective ขยายคำนาม species)

คำว่า endangered ที่โจทย์ให้มานั้นถูกต้องแล้วทั้งในด้านรูปคำและความหมาย คำนี้สร้างจากคำกริยา endanger (ทำให้อยู่ในอันตราย, คุกคาม) เมื่อเติม -ed เข้าไปปุ๊บจะได้คำใหม่คือ endangered ซึ่งเป็น adjective ในรูป past participle (V3) ความหมายของมันจะสื่อไปในทางถูกกระทำ (passive) ดังนั้น endangered ก็แปลว่า “ซึ่งถูกทำให้อยู่ในอันตราย”, “ซึ่งถูกคุกคาม” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ซึ่งใกล้สูญพันธุ์” นั่นเองครับ

ลองมาดูคำศัพท์ที่สร้างมาจากคำว่า danger กัน
danger (n) = ภัยอันตราย
endanger (v) = ทำให้ตกอยู่ในอันตราย
endangered (adj) = ซึ่งตกอยู่ในอันตราย, ซึ่งใกล้สูญพันธุ์
dangerous (adj) = ซึ่งเป็นอันตราย
dangerously (adv) = อย่างเป็นอันตราย
น้อง ๆ ควรสังเกตด้วยว่ากลุ่มคำ awareness of endangered species เป็น noun phrase (NP) ที่มี prepositional phrase (PP) ซ้อนอยู่ข้างใน และใน PP ก็ยังมี NP อยู่ข้างในอีก โอ้ว… อะไรมันจะซับซ้อนปานนั้น! ลองมาดูกันนะครับ
NP(awareness PP(of NP(endangered species)))
จริง ๆ ก็ไม่มีอะไรในกอไผ่หรอกครับ พี่แกล้งเขียนให้น้องงงเล่นไปอย่างนั้นเอง ;-)

จบแล้วครับ เย้! ใครที่อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ พี่ก็ขอแสดงความยินดีด้วยครับ เพราะน้องเป็นคนที่มีความอดทนสูงมากกกก ;-) ขอให้น้องประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษนะครับ พี่เอาใจช่วย :-)

บทความนี้เขียนโดยครูแมค โพสต์ครั้งแรกในเว็บไซต์ tutormax.spaces.msn.com โพสต์ครั้งที่สองในเว็บไซต์ tutormax.wordpress.com (on March 27, 2011) และโพสต์ครั้งที่สามในเว็บไซต์ krumac.com